โดย…ดลมนัส กาเจ
“วันดินโลก” 5 ธันวาคม ปีนี้จัดยิ่งใหญ่ ประเดิมเป็นเจ้าภาพมอบ “รางวัลวันดินโลก” ปีแรก อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเตรียม “เมืองเพียโมเดล” พานักวิทยาศาตร์เกี่ยวกับดินและสื่อมวลทั่วโลก ไปท้าพิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศไทยใช้ศาสตร์พระราชาสามารถพิชิตดินเค็มให้ทำการเกษตรและปลูกพืชได้
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยกับ “เกษตรทำกิน” ระหว่างไปเป็นประธานเปิดงานงานประชุมวิชาการ “วันดินโลก รวมศาสตร์ของพ่อ เชื่อมต่อดินมีปัญหา น้อมนำวิถีราชา ต่อต้านการแปรสภาพดินเป็นทะเลทราย” จัดโดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จังหวัดขอนแก่น ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่นเมื่อเร็วๆนี้ว่า ทางกระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ได้มอบมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน “วันดินโลก” วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นปีแรก ที่ประชุมสมัชชาดินโลก ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลี ก่อนหน้านี้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งรางวัลวันดินโลก หรือ World Soil Day Award ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และในปีนี้ทางเอฟเอโอได้กำหนดให้ประเทศเครือข่ายเกี่ยวดินจะจัดงานนี้ด้วยกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
สำหรับ “รางวัลดินโลก” นั้น ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับเอฟเอโอกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเพื่อเข้ารับรางวัลให้กับบุคคล องค์กร หรือประเทศที่มีผลงานและกิจกรรมที่เป็นประจักษ์ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงอาหารโลกอย่างยั่งยืน โดยจะเริ่มประเดิมมอบรางวัลกันเป็นครั้งแรก…5 ธันวาคม 2561 และในปีต่อไปประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพมอบรางวัลนี้ ณ ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล รัชการที่ 9 ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินทั้งดินเค็ม ดินเปรี้ยว การชะล้างหน้าดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์นานาชาติ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 พร้อมขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยจะมอบรางวัลดินโลก และจะมีเครือข่ายที่เกียวกับดินจะมาร่วมงานหลายประเทศจากทั่วโลก ทางกรมพัฒนาที่ดินจะถือโอกาสนี้เชิญนักวิทยาศาสตร์ด้านดินสื่อมวลต่างชาติจากทั่วโลกไปดูงานด้านการแก้ปัญหาดินเค็มในภาคอีสาน โดยจะเลือก “เมืองเพียโมเดล” ที่บ้านเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เป็นผู้รับผิดชอบ และสามารถแก้ปัญหาดินเค็มได้ จนวันนี้ในพื้นที่รอบๆ โครงการพบว่าเกษตรกรสามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้มากขึ้นถึง 3 เท่านตัว
ส่วนการจัดงาน“วันดินโลกรวมศาสตร์ของพ่อ เชื่อมต่อดินมีปัญหา น้อมนำวิถีราชาต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย” นั้นอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน บอกว่า เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายนักวิชาการด้านดินเค็มและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยและการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในอนาคต
ภายในงาน มีการบรรยายพิเศษ อาทิ ความสำคัญของวันดินโลกและกิจกรรมที่ดำเนินการในการฟื้นฟูทรัพยากรดิน,.วันต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและทิศทางการดำเนินงานอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย, .การจัดการดินเค็มกับเป้าหมายความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน 4.ความเสื่อมโทรมของที่ดินกับเป้าหมาย และตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน
พร้อมกันยังมีการจัดนิทรรศการที่เสนอผลงานวิจัยแบ่งเป็น 3 ส่วน 14 เรื่อง ส่วน 1.นิทรรศการวันดินโลก 2.เทศกาลการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและ 3.นิทรรศการการรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม นอกจากนี้มีการเสวนาในหัวข้อปัญหาดินของราษฎร์แก้ด้วยปราชญ์ของพ่อ และศาสตร์พระราชากับการแก้ไขปัญหาดินเค็ม เป็นต้น
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เกิดขึ้น จากการร่วมมือกันระหว่างกรมพัฒนาที่ดินและผู้แทนจาก UNCCD (United Nations Convention to Combat Desertification unccd โดยมีสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เป็นแม่งานหลักร่วมกับกองแผนงานกรมพัฒนาที่ดิน และมีภาครัฐภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ สนใจเข้าร่วมงานกว่า 400 คนจัดขึ้นมาเพื่อร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันดินโลก และเป็นการรณรงค์ต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย
[adrotate banner=”3″]
นอกจากนี้เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ด้านต่างๆ ติดตามผลงานวิจัยและเป็นเวทีเสวนาทิศทางการวิจัยและการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคตรวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ เช่น หน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษารวมถึงชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ดินเค็ม ภาคเอกชนได้ ภาคเอกชนได้แก่ บริษัทสยามฟอเรสทรี SCG เป็นต้น