บทพิสูจน์”บ้านปลาเอสซีจี”พลิกชีวิตสร้างรายได้วันละ4พันบาท(มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส กาเจ

          “หลังมีโครงการบ้านปลาแล้วครั้งแรกคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ มีการต่อต้านบ้าง เพราะมองว่า กำลังสร้างปัญหาขยะให้กับสังคม ให้กับทะเล พอมาวันนี้ทุกคนพิสูจน์ได้ไม่ใช้สร้างขยะ แต่สร้างอาชีพให้ชาวประมงดู่ดีกินดีขึ้น กล้ายืนยัน”

           หากย้อนไปเมื่อ 8 ปีก่อนสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเล ได้รับการบอกเล่า จากชาวประมงเล็กชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านหลายชุมของ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง ต่างยืนยันว่า ปริมาณกุ้ง หอย ปู ปลา มีปริมาณน้อยลงอย่างน่าใจหาย ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออาชีพของชาวประมงพื้นบ้าง ที่จับสัตว์มาขายเพื่อเลี้ยงครอบครัว ถึงขนาดบางครั้งต้องเรือเล็กเสี่ยงออกหาปลาไปไกลห่างจากฝั่งถึง 15 ไมล์ทะเล กระนั้นรายได้วันละอยู่ในหลักร้อยบาทต่อวัน อย่างดีถือว่าฟลุ๊คอาจได้ถึงวันละ 800 บาท แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่วันละ 300-600 บาท ขณะที่ในท้องทะเลเริ่มมีขยะมูลฝอยมากขึ้นเป็นทวีคูณนับตั้งแต่เมืองระยองกลายเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง

             ในปี 2554 ทางเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในพื้นที่ จ.ระยองด้วย ได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนประมงพื้นบ้าน ดำเนินโครงการบ้านปลาเอสซีจี ในหลายพื้นที่ของ จ.ระยอง อาทิ โครงการ “หาดงามตา ปลากลับบ้าน” รวมถึงที่แหลมเจริญ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยองด้วยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน

ใช้ท่อ PE100 ทำบ้านปลาทรนาน50 ปี

             การดำเนินธุรกิจของเอสซีจีใน จ.ระยองนั้น ทำให้เอสซีจีได้ใกล้ชิดกับชุมชนและเล็งเห็นถึงปัญหาปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง จัดทำโครงการบ้านปลาเอสซีจีขึ้น โดยนำท่อพีอี 100 (PE 100) ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงานมาใช้ประกอบเป็นบ้านปลา ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ Waste ให้เกิดประโยชน์ตามหลักการCircular Economy โดยท่อ PE100 มีความแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

             มาถึงวันนี้โครงการบ้านปลาเอสซีจีย่างเข้าสู่ปีที่ 7 และได้จัดวางบ้านปลาลงสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้วกว่า 1,400 หลัง ใน จ.ระยอง ชลบุรี และจันทบุรี  เกิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 35 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านช่วยกันรักษาและดูแลให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์

             นับตั้งแต่จัดวางบ้านปลาเป็นครั้งแรกในปี 2555 เอสซีจีได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ กลุ่มประมงพื้นบ้านและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อศึกษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยการสำรวจในเดือนธันวาคมปี 2560 พบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีการจัดวางบ้านปลามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจ กลุ่มปลาสวยงาม กลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อน กลุ่มสัตว์เกาะติด และกลุ่มแพลงก์ตอน

[adrotate banner=”3″]

ชาวประมงยืนยันมีบ้านปลาหาเงินได้วันละ 4 พัน

         เพียงไม่กี่ปีของโครงการบ้านปลาเอสซีจี สร้างขึ้นชาวประมง อย่าง “ไมตรี รอดพ้น”  ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อ.เมือง และอ.บ้านฉาง สามัคคี ยืนยันว่า เดิมทีชาวบ้านหาปลาได้วันละ 300-600 บาทอย่างดีที่สุดได้ 800 บาท แต่ปัจจุบันทุกวันต้องได้หลักพันบาท บางวันได้ถึง 4,000 บาทฟล๊กขึ้นมาอาจถึงหลักหมื่อนบาท แต่ทั้งที่ขึ้นอยู่กับความขยันของชาวประมงด้วย(ฟังคลิป)

           เขา บอกด้วยว่า การเข้าร่วมโครงการบ้านปลา นอกจากจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีส่วนช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของท้องทะเลแล้ว ยังทำให้เกิดความสามัคคีกันในกลุ่มชาวประมง เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง  พวกเขามุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีในการทำประมงเชิงอนุรักษ์นี้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาอาชีพประมงพื้นบ้านให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป

“บ้านปลา”ชุบชีวิตชาวประมงไม่ใช้ขยะของสังคม

           สอดคล้องกับการยืนยันของ “สมัคร อ่องละออ” ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านหาดแสงเงิน ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง บอกว่า ก่อนมีโครงการบ้านปลาของเอสซีจี ทรัพยากรในทะเลเหลือมากมาก เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างล่า ต่างคนต่างจับมาขายอย่างเดียวไม่เคยฟื้นฟู ทำให้สัตว์น้ำลดปริมาณน้อยลง ถึงขนาดบางคนท้อ หันไปยึดอาชีพอย่างอื่น แต่ด้วยวุฒิการศึกษาน้อยก็งานลำบาก หลังมีโครงการบ้านปลาแล้วครั้งแรกคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ มีการต่อต้านบ้าง เพราะมองว่า กำลังสร้างปัญหาขยะให้กับสังคม ให้กับทะเล พอมาวันนี้ทุกคนพิสูจน์ได้ไม่ใช้สร้างขยะ แต่สร้างอาชีพให้ชาวประมงดู่ดีกินดีขึ้น กล้ายืนยัน (ฟังคลิป)

ระดม 900 ชีวิตช่วยกันสร้างบ้านปลา

         ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 เอสซีจีร่วมกับภาครัฐและกลุ่มประมงพื้นบ้าน จัดกิจกรรม รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที… จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจีณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานจาก “จากภูผา สู่มหานที” เพื่อเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีการระดมพล้งจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 900 คน มาร่วมประกอบบ้านปลาจำนวน 50 หลัง เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ใต้ท้องทะเล เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำและฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเล พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน

รูปแบบใหม่บ้านปลาจัดเป็น”หมู่บ้าน”

          ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี บอกว่า ทางเอสซีจีจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ จ.ระยองมาตลอด ก่อนหน้าได้ระดมจิตอาสาช่วยเก็นเก็บขยะพลาสติกในท้องทะเลด้วย อย่างปัจจุบันร่วมกับภาครัฐและชุมชนบริหารจัดการน้ำใน จ.ระยองตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นโครงการบ้านปลา หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

           ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่การวางบ้านปลาหรือการสร้างฝายเท่านั้น แต่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลาและดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประชากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านหาปลาเลี้ยงชีพดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ พลังของจิตอาสาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน

          “ขณะนี้เอสซีจีได้พัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่ คือวางครั้งเดียวเป็นกลุ่ม 10 หลัง หรือเป็นหมู่บ้าน  โดยผูกเข้าด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบก และใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา ระบบนี้ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการวางบ้านปลา รวมถึงหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางบ้านปลาแบบเดิม ” นายชลณัฐ กล่าว

ก้าวต่อไปใช้ขยะพลาสติกเป็นบ้านปลารีไซเคิล

          กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี บอกด้วยว่า  ล่าสุดทางเอสซีจีกำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเลและชุมชน อาทิ ถุงพลาสติก ฝาขวดพลาสติก มาผ่านกระบวนการ และขึ้นรูปเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลารีไซเคิล ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ว่าจะมีความคงทนขนาดไหน จะต้องปรับสูตรอัตราผสมว่าเท่าไร คากว่าภายในเดือนกรกฎาคม 2561 คงจะได้คำตอบและทดลองบ้นจากขยะพลาสติกรีไซเคิลลงสู่ท้องทะเลได้ แต่กระนั้น จากการทดสอบในเบื้องต้น พบว่าบ้านปลารีไซเคิลมีความแข็งแรงทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

         อย่างไรก็ตาม เอสซีจียังไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่โครงการบ้านปลาจะดำเนินการต่อไป ตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกลุ่มประมงพื้นบ้านในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกภายในปี 2563 และในปีหน้าจะจัดทำบ้านปลาเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400 หลัง เพราะพิสูจน์เห็นชัดว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้รายได้และคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านดีขึ้น

            ด้าน ธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า วิถีประมงเรือเล็กพื้นบ้านเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดระยอง และภาคอุตสาหกรรมคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด การได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของทั้งสองฝ่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างเช่นวันนี้ทำให้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าโครงการบ้านปลาเอสซีจีจะเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยผลักดันการพัฒนาจังหวัดระยองให้ประสบความสำเร็จ ตามวิสัยทัศน์ ‘เมืองนวัตกรรมก้าวหน้า พัฒนาอย่างสมดุล บนพื้นฐานความพอเพียง’ และสามารถสนับสนุนการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนควบคู่กับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเกื้อกูลกันและยั่งยืน”

           ส่วน ภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กล่าวว่า โครงการบ้านปลาเอสซีจีสอดคล้องกับภารกิจของ สบทช. ในการป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไปพร้อมกับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นต้องอาศัยชุมชนที่เข้มแข็งซึ่งร่วมกันกำหนดกฎกติกาในการดูแลทรัพยากรไปจนถึงการปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของการประมงเชิงอนุรักษ์ บ้านปลาที่เกิดจากความสามัคคีของชุมชนจึงเปรียบเสมือนธนาคารในทะเลที่กลุ่มประมงจะสามารถพึ่งพาเพื่อยังชีพตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

           โครงการบ้านเอสซีจี นับเป็นอีกหนึ่งโครงการสร้าง ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้รายได้และคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านดีขึ้น หากแต่โครงการนี้ ยัง ส่งเสริมให้เกิดชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และสร้างเครือข่ายประมงพื้นบ้านเพื่อร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนอีกด้วย