ทำมาแล้วไม่ว่าจะเป็นอาร์ตไดเร็คเตอร์ บริษัทโฆษณา มัณฑนากร นักเขียนภาพประกอบ และศิลปิน ตั้งแต่ยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์ กระทั่งวันที่คอมพิวเตอร์เปรียบประหนึ่งอวัยวะของมนุษย์ในวันนี้
HIGHLIGHTS
คนทั่วไปจะมองว่าไม้ไผ่เป็นของพื้นๆ บ้านๆ ไม่มีความพิเศษ ไม่หรูหรา ผมอยากเปลี่ยนความเคยชิน ลองมองอีกมุม
ถาวร ศิละคุณาภรณ์ ขอโฟกัสเส้นทางเดินใหม่ ด้วยการหนีกรุงไปทำงานศิลปะเต็มตัวที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีผลงานคราฟท์ขนาดใหญ่ชุดแรกที่มีชื่อว่า Crazy a little people call Dog ออกมาร่วมฉลองนักษัตรปีจอ ที่เกษร วิลเลจ ให้คนกรุงได้เซอร์ไพร้สกับมหัศจรรย์ไม้ไผ่ที่ทั้งใหญ่โตและแสนจะน่ารัก จนอดไม่ได้ที่จะมะมา…มาเซลฟี่กัน
“ก่อนหน้านี้ผมทำดิสเพลย์ของร้านเมธธีค (Mettique) เป็นหมาคาบกระเป๋าแบรนด์เมธธีค ทางเกษรวิลเลจ เห็นเลยติดต่อให้มาทำงานชุดนี้เพื่อให้เข้ากับนักษัตรปีจอแนวคิดมาจากมุมมองที่ผมเป็นคนเลี้ยงสุนัขเลยมีความผูกพัน เวลาอยู่กับเขาทำให้เราวุ่นวายไปทุกอย่าง เรานำความรู้สึกใกล้ตัว เราอยู่กับเขาแล้วเป็นยังไง ผมคิดว่าเขาเป็นคนจริงๆ เพียงแต่ว่าเป็นคนที่พูดไม่ได้ เป็นคนที่ตัวเล็กกว่าเรา สิ่งที่ผมนำเสนอเหมือนกับการปฏิบัติกับคนเลย เขาไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยง เขาเป็นมนุษย์ ดังนั้นกิจกรรมที่เขาทำก็เป็นมนุษย์นี่ล่ะครับ”
ประติมากรรมไม้ไผ่สานรูปสุนัข 9 ตัว จึงแสดงท่าทางสะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้คน เช่น กินสปาเกตตีเลอะเทอะแต่น่ารัก เล่นโยคะ มาร์กหน้า ช้อปปิง และเซลฟี่ จัดวางใน 7 โลเคชั่น ในขนาดตั้งแต่ 2.5 เมตร ไปจนถึง 20 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นงานท้าทายและใหญ่โตมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา
“เวลาเรามองงานคราฟท์จะมองว่าเป็นชิ้นเล็กๆ ยิ่งงานไม้ไผ่คนจะมองว่าเป็นได้แค่สุ่มไก่ ตะกร้า ผมว่ามีอะไรมากกว่านั้นด้วยสเกลของมัน อยากให้มองอีกมุมของงานคราฟ์และวัสดุ คือไม้ไผ่ คนทั่วไปจะมองว่าไม้ไผ่เป็นของพื้นๆ บ้านๆ ไม่มีความพิเศษ ไม่หรูหรา ผมอยากเปลี่ยนความเคยชิน ลองมองอีกมุม” ถาวร กล่าวถึงการเลือกใช้วัสดุที่หลายคนมองผ่าน
“ผมเคยดีไซน์งานไม้ไผ่มาก่อน นำกะลามะพร้าวมาทำเป็นประตูทั้งบาน ตัดส่วนก้นแหลมๆ แล้วนำมาติดต่อกันเป็นบานประตู อันนี้เป็นวิธีการมองวัสดุพื้นๆที่อยู่รอบตัวเรา แล้วให้คุณค่ากับมัน” ความสนใจประกอบกับความต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตไปอยู่ให้ไกลกรุงเทพฯมากที่สุด ทำให้เขานำสิ่งที่อยู่ใกล้ที่สุดมาใช้ในการสร้างบ้านใหม่ อันนำมาสู่ผลงานสร้างสรรค์ในครั้งนี้
“ช่วงที่พูดคุยกับทางเกษร เป็นเวลาเดียวกับที่ผมกำลังย้ายบ้าน ผมจะดีไซน์ครัวใหม่ ผมเลือกไม้ไผ่เพราะราคาถูกหาได้ง่าย และเข้ากับชีวิตในบริเวณหมู่บ้าน คือผมไปอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆที่มีชาวกระเหรี่ยง มอญ แถวสังขละบุรี”
ทำไมถึงต้องไปไกลขนาดนั้น เขาตอบว่า
“เพราะว่ามันไกลครับ พูดง่ายๆคือผมเบื่อกรุงเทพฯมากเลย ผมไม่สามารถทำงานที่กรุงเทพฯได้อีกต่อไปแล้วผมรู้สึกว่าโดนบีบตลอดเวลา ความคิดสร้างสรรค์หายไปหมด การทำงานไม่มีความสุข ผมต้องหาที่ใหม่ ด้วยความที่ผมไปเที่ยวแล้วชอบในเมืองเล็กๆ กรุงเทพฯมันใหญ่ผมต้องการอะไรที่ตรงกันข้ามกับกรุงเทพฯทุกอย่าง ไม่อยากได้กลิ่นอายของความเป็นเมืองเลย ยิ่งเรียบง่ายที่สุดเท่าไหร่ยิ่งชอบ
ระหว่างที่ทำครัวด้วยไม้ไผ่ ยิ่งรู้สึกว่าน่าสนใจแค่เดินออกไปรอบๆหมู่บ้านก็เจอแล้ว ให้เพื่อนบ้านช่วย ไม่ต้องซื้อหาตัดได้ฟรีๆ ผมสนใจวัสดุหาง่ายไม่มีราคา ไม่ต้องใช้กระบวนการผลิตเป็นวัสดุมาให้ใช้งาน งานผมทำมือ 95 เปอร์เซนต์ เครื่องจักรที่ใช้มีเพียงชิ้นเดียวคือ เครื่องรีดไม้ไผ่ให้มีขนาดเล็กลง”
ศิลปินเล่าถึง ขั้นตอนการทำงานที่อาศัยหลักธรรมชาติที่น่าสนใจ “ผมจะตัดไม้ไผ่เดือนสิบ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มอดไม่กิน เอามาแช่น้ำนาน 1 เดือน ตัดไม้ไผ่มาลำละ6 เมตร แช่น้ำเพื่อให้น้ำตาลในไม้ไผ่หมดไป มอดก็จะไม่กิน วิธีกำจัดแมลงแบบง่ายๆไม่ต้องอาศัยสารเคมี เพื่อนบ้านแนะนำและได้ผลจริงๆ
แล้วนำมาผ่า 8 ซีกแล้วเข้าเครื่องรีดเพื่อให้บางลง จากนั้นใช้แรงงานคนเหลาให้บางและเรียบขึ้น หลังจากนั้นนำมาสาน ต้องสานเองเพราะชาวบ้านทำไม่ได้ไม่เคยชิน ผมลงมือเองสานเอง สำหรับงานชิ้นใหญ่เราทำแยกเป็นชิ้นแล้วค่อยนำมาประกอบในสถานที่จริง”
ผลงานประติมากรรมไม้ไผ่ชุดนี้ ดูเหมือนว่านอกจากความน่ารักสดใสของเหล่านักษัตรปีจอแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของไม้ไผ่ที่ไม่ธรรมดาอย่างที่เคยเห็นกันโดยทั่วไป
“จุดใหญ่อยากให้มองอีกมุมว่า ไม้ไผ่อาจทำอย่างนี้ได้ ไม้ไผ่ไม่ต้องเป็นตะกร้าก็ได้ การทำให้คนคิดหลายๆมุมเป็นสิ่งที่ผมต้องการนำเสนอ อยากให้คนรู้ว่าทุกอย่างในโลกนี้มีด้านอื่นด้วยไม่ได้มีด้านเดียวเดินเข้ามาในห้างหรูเจองานไม้ไผ่มันคอนทราสกันมากเลย”ถาวร บอกกับเรา
หลังจากทำงานประติมากรรมไม้ไผ่ และทำครัวไม้ไผ่ที่บ้านแล้วเสร็จ งานต่อไปของถาวรคือการเดินหน้าทำงานศิลปะอย่างแท้จริง “การที่ผมย้ายไปอยู่ที่กาญจนบุรี ผมตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นอาร์ติสท์ต่อไป อยู่กรุงเทพฯผมเป็นมัณฑนากร ทำงานออกแบบ เขียนภาพประกอบ เหมือนเป็นงานกึ่งคอมเมอร์เชียล ผมไปที่โน่นเป็นก้าวใหม่ของผมที่จะทำไฟน์อาร์ตจริงๆแล้วผมก็จะทำอย่างต่อเนื่อง
มันมีชีวิตที่อื่นอีกมากมายนอกกรุงเทพฯที่น่าอยู่อีกเยอะ ผมมองแบบนั้นนะ อีกไม่นานผมจะแสดงงานศิลปะที่สังขละบุรีต่อ อาจเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ตอนนี้ผมย้ายสำมะโนครัวไปเรียบร้อยแล้ว” เขาเล่าถึงชีวิตในบ้านใหม่อย่างเป็นสุข
ก่อนจากกันเราถามถึงมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในฐานะของนักออกแบบ และนักวาดภาพประกอบในนิตยสารและสิ่งพิมพ์ คำตอบที่ได้น่าสนใจทีเดียว
“ผมว่ามันต้องเปลี่ยน ผมยอมรับทุกอย่าง ผมชอบที่มันเปลี่ยน ใครว่าหนังสือหายไปแล้วมันจะเป็นเรื่องที่เศร้า ผมก็ได้รับผลกระทบ อิมเมจ พลอยแกมเพชร หนังสือที่ผมเขียนภาพประกอบก็ปิดตัว ผมคิดว่ามันก็ถึงเวลาแล้วทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่หยุดสิ่งหนึ่งไว้มันก็จะไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา
ผมชอบที่มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นมา เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ไม่งั้นเราจะอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ เมื่อก่อนผมทำคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ตอนนี้ผมทำโฟโต้ช้อป 3 Dก็ทำได้แล้ว ผมเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมชอบความเปลี่ยนแปลง”
ถ้าไม่หยุดสิ่งหนึ่ง ก็จะไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา เป็นมุมมองของ ถาวร ศิละคุณาภรณ์ ที่ชวนให้เราทบทวนความคิดได้อีกหลายๆมุมเลยทีเดียว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ : โดย : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น : อ่านเพิ่มเติม : http://www.judprakai.com/creative/481