“ดอยช้าง” จัดทัพขยายนักดื่ม ส่งกาแฟ “แคปซูล” ราคาจูงใจรุกค้าปลีก

  •  
  •  
  •  
  •  

“ดอยช้าง” ขยายฐานกาแฟแคปซูลเจาะค้าปลีก เตรียมปูพรมเข้าโมเดิร์นเทรด มิ.ย.นี้ ส่งราคาจูงใจ 22-26 บาท ถูกกว่าคู่แข่ง พร้อมรุกเปิดสแตนด์อะโลนนอกห้าง 2-3 แห่ง/เดือน ก่อนจับมือพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ เปิดสาขาแรกในสิ้นปีนี้ มั่นใจรายได้โตต่อเนื่อง 15%

การบริโภคกาแฟที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการร้านกาแฟ ที่อาศัยจังหวะนี้ขยายตัวรับกับดีมานด์ที่เกิดขึ้นเพื่อแย่งชิงเม็ดเงินจากผู้บริโภคแล้ว ตลาดยังมีช่องว่างใหม่ ๆ เช่น กลุ่มกาแฟแคปซูล ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าไปตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบาย รับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่ และความพรีเมี่ยมของเมล็ดกาแฟที่สามารถเลือกได้อย่างหลากหลาย แต่ข้อจำกัดก็คือการบริโภคกาแฟรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีเครื่องชงกาแฟแคปซูลโดยเฉพาะ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ถือเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการผลักดันเซ็กเมนต์นี้

นายพิษณุชัย แก้วพิชัย ประธานที่ปรึกษาด้านธุรกิจ บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดร้านกาแฟยังคงแข่งขันสูง ทั้งกลุ่มร้านเชน ร้านแฟรนไชส์และร้านแบบไม่มีเชน ในด้านราคา เทคนิคของบาริสต้า รูปแบบการชงและเมล็ดกาแฟ รวมถึงสไตล์การตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์-สตอรี่ เพื่อชิงสร้างฐานคอกาแฟขาประจำรวมถึงกระตุ้นการบอกต่อบนโลกโซเชียล

อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีช่องว่างการเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มกาแฟแบบแคปซูลที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น ทำให้บริษัทเตรียมส่งกาแฟแคปซูลดอยช้าง เพื่อสร้างยอดขายและขยายฐานลูกค้าของแบรนด์ให้กว้างขึ้น โดยวางระดับราคาไว้ที่ 22-26 บาทต่อแคปซูล ซึ่งต่ำว่าคู่แข่งเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ และวางขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด อาทิ วิลล่ามาร์เก็ต, ฟู้ดแลนด์, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, กูร์เมร์มาร์เก็ต และแมกซ์แวลู ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ส่วนเครื่องชงของแบรนด์มีตั้งแต่ราคา 4,500 บาท จะขายผ่านทางเว็บไซต์

คาดว่ายอดขายจากช่องทางค้าปลีกจะมีสัดส่วน 10-20% ของยอดขายกาแฟแคปซูลของบริษัท และขณะเดียวกันเตรียมขยายจุดวางแคปซูลและเครื่องในโรงแรมระดับ 4-5 ดาวอีก 1,000-1,500 ห้องภายในปีนี้ จากเดิมที่มีประมาณ 1,000 ห้อง

ด้านของร้านกาแฟที่เป็นธุรกิจหลักมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ปรับแนวทางการขายไลเซนส์ เป็นร้านพันธมิตรที่นำสินค้าของดอยช้างไปใช้ มาเป็นการขยายผ่านแฟรนไชส์ทั้งหมด โดยโมเดลการลงทุนมี 3 ไซซ์ ได้แก่ เล็ก กลาง ใหญ่ งบฯลงทุนเริ่มต้น 1.5-3.5 ล้านบาท เน้นการเปิดไซซ์กลางขึ้นไป ในรูปแบบสแตนด์อะโลนนอกห้างสรรพสินค้า

โดยในช่วงแรกจะเชิญร้านพันธมิตรที่มีอยู่กว่า 200 รายให้มาเป็นแฟรนไชซีก่อนพิจารณาให้ผู้สนใจรายอื่น ๆ ทั้งนี้คาดว่าจะมีร้านแฟรนไชส์เปิดเพิ่มเดือนละ 2-3 สาขา

นอกจากนี้ ยังจะมีสาขาที่ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เมื่อต้นปีได้ลงนามความร่วมมือเพื่อนำร้านกาแฟดอยช้างเข้าไปจำหน่ายในสาขาของธนาคารประมาณ 30-40 สาขา และขยายสาขารูปแบบร้านสแตนด์อะโลนอีก 20 สาขา เพื่อกระจายการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ  ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าร้านกาแฟดอยช้างจะมีสาขารวมทั้งหมด 100 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 300 สาขาภายใน 3 ปีข้างหน้า

สำหรับธุรกิจในต่างประเทศ ได้แต่งตั้งมาสเตอร์แฟรนไชส์ในนิวซีแลนด์และญี่ปุ่นแล้ว โดยเตรียมเปิด 2 สาขาที่เมืองกรีนทาวน์และโอกแลนด์ ส่วนญี่ปุ่นจะหาแฟรนไชซีให้ครบ 3-4 รายก่อนจึงจะเปิดสาขา เนื่องจากมีต้นทุนนำเข้าเมล็ดกาแฟที่สูงมาก ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปิดสาขาใน 2 ประเทศดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี

สำหรับประเทศที่เข้าไปแล้ว ได้แก่ เกาหลี มาเลเซีย ลาว กัมพูชา และเมียนมา ส่วนในโซนยุโรป เช่น แคนาดา อังกฤษ ฯลฯ จะขายผ่านรูปแบบการส่งเมล็ดกาแฟ และให้ตัวแทนเป็นผู้คั่วเมล็ดเองทั้งนี้คาดว่าจะทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น และสร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 15% จากปีที่ผ่านมา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม: https://www.prachachat.net/marketing/news-167586