สทนช. เร่งเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำ 3 ปีวางเป้าหมาย “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ”

  •  
  •  
  •  
  •  
สทนช. รับนโยบายนายกรัฐมนตรี บูรณาการหน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เร่งขับเคลื่อนแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ มุ่งสู่เป้าหมาย “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” เพื่อความมั่นคงน้ำอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม วานนี้ (5 ส.ค. 67) ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน กรุงเทพฯนั้น
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังการรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมกันนี้ สทนช. ได้นำเสนอแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาตามแผน คือ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แผนงาน 3 ปีฯ ได้กำหนดเป็นวาระด้านทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไว้ทั้งหมด 6 แผนงาน 53,892 โครงการ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 19.9 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 6.2 ล้านครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 4.28 ล้านไร่ ความจุเก็บกักเพิ่มขึ้นประมาณ 6,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้ง 6 แผนงานดังกล่าว ประกอบด้วย
1. แผนการพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกหมู่บ้าน ชุมชนเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจ 2. แผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และพัฒนาระบบกระจายน้ำ โดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม โดยปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดใหญ่/กลาง ปรับปรุงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมถึงการพัฒนาระบบกระจายน้ำของโครงการแหล่งน้ำเดิม 3. แผนพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านการผลิต ด้านการเกษตรในพื้นที่เกษตรน้ำฝน
4. แผนพัฒนาพื้นที่รับน้ำหลากและการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองโดยเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำหรือพื้นที่หน่วงน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจในตอนล่าง และเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่หน่วงน้ำช่วงฤดูแล้งได้ 5. แผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ เพื่อฟื้นฟูและจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพ พัฒนาระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำ และป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ป้องกันและบรรเทาภัยให้แก่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม และจัดการคุณภาพน้ำให้เอื้ออำนวยต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม
สำหรับแผนงานที่ 6 เป็นแผนงานตามโครงการสำคัญ 62 โครงการ ซึ่งได้มีการกำหนดโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำที่ขับเคลื่อนได้ภายใน 3 ปี แบ่งออกเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ โครงการภายใต้แผนงานด้านที่ 1 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 37 โครงการ โดยกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ เช่น โครงการสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ฯลฯ 2. โครงการภายใต้แผนงานด้านที่ 2 การบรรเทาปัญหาอุทกภัย 24 โครงการโดยกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร เช่น
โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โครงการระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนพิชัย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสี่ ฯลฯ และ โครงการภายใต้แผนงานด้านที่ 3 การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ 1 โครงการ โดย กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2
“นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมีประเด็นหลัก ได้แก่ เร่งจัดหาน้ำสะอาดให้เห็นผลผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพโครงการหรือแหล่งน้ำเดิมพัฒนาระบบกระจายน้ำ เพิ่มความจุเก็บกักเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตประปาและการเกษตรหรือการประกอบอาชีพ ลดภัยทางน้ำโดยการกำหนดพื้นที่รับน้ำหลาก และทำแก้มลิงรองรับน้ำหลาก ดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำรักษ์น้ำรักษ์ป่าลดการชะล้างพังทลายของดิน ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศในทุกมิติอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว