“ธรรมนัส” นำทัพ  กยท.ล่องใต้ Kick Off แก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา-ซื้อขายน้ำยางสด EUDR ครั้งแรก

  •  
  •  
  •  
  •  

ธรรมนัส” นำทัพ  กยท. ผนึกเอกชน เกษตรกร ล่องใต้ Kick Off เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา หลังพบว่าสุดสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคฯกว่า  28,840 ไร่ พร้อมประเดิมซื้อขายน้ำยางสด EUDR ครั้งแรก เตรียมความพร้อมเสริมแกร่งห่วงโซ่ยางไทยทั้งระบบ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Kick off โครงการบูรณาการทดลองร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา และการซื้อขายน้ำยาง EUDR ณ โรงงานน้ำยางข้น สหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้เรื่องโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา และมาตรการ EUDR (EU Deforestation-free Products Regulation) น้ำยางสด

โดยมี นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตลอดจน ผู้บริหารภาครัฐ ภาคการเกษตร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง เข้าร่วม

                                                                 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายพัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่ยางพาราไทย โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่สวนยางในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทย จึงได้มอบหมายให้ กยท. เร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ การให้ความรู้ การแจกจ่ายชีวภัณฑ์เพื่อลดความรุนแรงของโรค ตลอดจนการพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือการบูรณาการร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อศึกษาหาแนวทางทดลองเพื่อให้ได้กรรมวิธีที่เหมาะสมในการจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่นี้ เชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายผนึกความร่วมมือกันจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการยกระดับผลผลิตยางพาราให้ตรงตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อยางหรือตลาดโลกต้องการ โดยในเดือนธันวาคม 2567 นี้ จะเริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (อียู) โดย กยท. ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เช่น ผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและผู้ประกอบกิจการยางพาราไทย มีการจัดการข้อมูลยางพาราอย่างเป็นระบบ รองรับกฎระเบียบ EUDR เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคกับชาวสวนยาง และตลอดจนเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกษตรกรตื่นตัว เป็นโอกาสที่ดีช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลกต่อไป

ขณะเดียวกัน กยท. ได้จัดเตรียมระบบข้อมูลยางพาราไทยให้เป็นไปตามเงื่อนไข ทั้งระบบลงทะเบียนเกษตรกรที่จะต้องใช้เป็นพื้นฐาน รองรับกฎระเบียบ  EUDR  ซึ่งการจัดทำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (RAOT GIS) ของ กยท. เป็นอีกหนึ่งระบบที่ได้รับการรองรับตามกฎระเบียบ EUDR ในขณะนี้

ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่า กยท. กล่าวว่า กยท. ขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่ต้นน้ำ โดยบริหารจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (ใบจุดกลม  Colletotrichum) อย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและยับยั้งการเกิดโรคมาโดยตลอด อาทิ การจัดหาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดและยับยั้งเชื้อรา (เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่เกิดการระบาดมาก) ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกรและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรด้วยการปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่ที่ระบาดรุนแรง

นอกจากนี้ได้ประสานงานกับกรมวิชาการเกษตรในการขยายพันธุ์และขนย้ายกล้ายางที่ปลอดโรค และวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรค รวมไปถึงการทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ในแปลงของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบโรคฯ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 ทำให้แนวโน้มความรุนแรงของโรคฯ ลดลง และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

ข้อมูลล่าสุด (มิถุนายน 2567) มีพื้นที่สวนยางได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคฯ จำนวน 28,840 ไร่ ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ประมาณละ 97 สำหรับโครงการบูรณาการฯ นี้ เป็นอีกก้าวของการพัฒนาชีวภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรค ซึ่ง กยท. ได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมกันทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ และสารอื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นเวทีที่ทุกภาคส่วนได้มาบูรณาการทดลองร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้ประกอบการจากภาคเอกชนเข้าร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 บริษัท ในพื้นที่สวนยางของตัวแทนเกษตรกรจังหวัดสงขลาจำนวน 24 แปลง

ผู้ว่า กยท.กล่าวอีกว่า  ในวันเดียวกันนี้ กยท. ประเดิมซื้อขายน้ำยางสดที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา (เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR) ผ่านตลาดกลาง กยท. 2 แห่ง มีปริมาณน้ำยางสดรวมกว่า 138,000 กิโลกรัม โดยวันนี้ราคาน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้ สูงสุดที่ 78 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10.5 ล้านบาท ถือเป็นการซื้อขายน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้ครั้งแรกในไทย

อย่างไรก็จาม ก่อนหน้านี้ กยท. ได้เปิดตลาดซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 และยางก้อนถ้วยที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ผ่านการประมูลด้วยระบบ TRT ดังนั้นการ Kick Off ในวันนี้ จึงแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการจัดการข้อมูลยางพาราและระบบการซื้อขายยางผ่านตลาดกลางของ กยท. ที่มีมาตรฐาน พร้อมรองรับความต้องการยาง EUDR ของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต