“ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วม กมธ.แม่น้ำโขง ครั้งที่ 57 ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง  

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 57  ติดตามความก้าวหน้าแผนงาน/โครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง พร้อมกระชับความสัมพันธ์กว่า 30 ปี ของ 4 ประเทศสมาชิก ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล เท่าเทียมและยั่งยืน 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 57 (The 57th Meeting of the MRC Joint Committee) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2567 ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมว่า การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าและร่วมพิจารณาในประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศ รวมถึงการอนุมัติแผนปฏิบัติการสำหรับการแบ่งปันข้อมูล, สถานะทางการเงินของ MRC ประจำปี 2566 และข้อมูลสถานะทางการเงินของ MRC ณ เดือนเมษายน 2567

การพิจารณาตรวจสอบแผนยุทธศาสตร์ของ MRC ในช่วงกลางปี (MTR) และแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาเวียงจันทน์, ระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และความคืบหน้ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนสานะคามและเขื่อนภูงอย สปป.ลาว และแผนปฏิบัติการร่วมของโครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง, การวางแผนลุ่มน้ำระดับภูมิภาคเชิงรุก (PRP) รวมถึงสรุปผลการปรับปรุงระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (DSF) ระยะที่ 1, การดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (TbEIA) แบบสมัครใจ ตามแนวทางด้านเทคนิคของ MRCS กรณีโครงการพลังงานน้ำพลังงานไฟฟ้าเซกองตอนล่าง (ไซต์ A) และแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไป เป็นต้น

สำหรับคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Joint Committee) ประกอบด้วยผู้แทนระดับไม่ต่ำกว่าอธิบดีของประเทศสมาชิกประเทศละ 1 คน มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ประธานคณะกรรมการร่วมมีวาระ 1 ปี หมุนเวียน ตามลำดับ โดยในปีนี้ เป็นครั้งที่ 57 มีประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการร่วมและเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการร่วมฯ ได้ร่วมพิจารณาในแผนงาน/โครงการ และวาระสำคัญๆ หลายวาระด้วยกัน เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแม่น้ำโขง โดยผลการร่วมพิจารณาในครั้งนี้ จะถูกนำเสนอต่อคณะมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC Council) ในการประชุมครั้งถัดไป

“ในปีหน้าหรือ พ.ศ. 2568 ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRCS CEO จะเป็นผู้แทนจากประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา ซึ่งเชื่อว่าผู้แทนจากประเทศไทยจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำโขงให้เป็นไปตามเป้าหมายร่วมกัน ที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมและความสมดุลในระหว่างประเทศสมาชิก และเกิดความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขงในที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย