นักบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาเกษตรศาสตร์- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพิพิธภัณฑ์สิรินธร ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ฟันเดี่ยวของไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มญาติเก่าแก่ของ T.rex ยุคจูแรสซิกในประเทศไทยที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เผยเป็นหนึ่งในญาติเก่าแก่ของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชื่อดังอย่างไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที.เร็กซ์ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
นายวงศ์เวชช เชาวน์ชูเวชช นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา ร่วมกับ ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ฟันเดี่ยวของไดโนเสาร์กลุ่มไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่ม (basal tyrannosauroid) ในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในญาติเก่าแก่ของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชื่อดังอย่างไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที.เร็กซ์ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
ฟันเดี่ยวของไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มถูกพบในหมวดหินภูกระดึงตอนล่าง มีอายุอยู่ในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน โดยมีลักษณะของฟันที่โดดเด่น 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่สันฟันด้านหน้าที่ขยายไปไม่ถึงเส้นแบ่งรากฟันและโค้งเข้าหาลิ้น (twisted mesial carnae not reach the cervix) และพื้นผิวเคลือบฟันหรืออีนาเมลที่มีลักษณะเป็นริ้วถัก (braided enamel surface texture)
ฟันของไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มนี้มีลักษณะที่แตกต่างกับฟันของไดโนเสาร์กินเนื้ออีกชนิดที่พบซากดึกดำบรรพ์รวมกันในแหล่งอย่างเมเทรียแคนโธซอริด (metriacanthosaurid) เนื่องจากฟันของเมเทรียแคนโธซอริดมีสันฟันด้านหน้าที่ขยายเลยเส้นแบ่งรากฟันและพื้นผิวเคลือบฟันที่มีลักษณะเป็นขรุขระ จึงเป็นหลักฐานการมีอยู่ของไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มในแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย
จากการวิเคราะห์ทางอนุกรมวิธานและสถิติ ไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มภูน้อยมีความใกล้ชิดทางสายวิวัฒนาการกกับไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มอย่าง กวนหลง (Guanlong) จากประเทศจีน และโปรเซราโทซอรัส (Proceratosaurus) จากประเทศอังกฤษ
การมีอยู่ของไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มนั้นเป็นหลักฐานบ่งชี้ให้เห็นถึงนิเวศวิทยาบรรพกาลอันอุดมสมบูรณ์ของหมวดหินภูกระดึงตอนล่าง ยุคจูแรสซิกของประเทศไทย ซึ่งมีห่วงโซ่อาหารที่ซับซ้อนและแสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นการล่าของสัตว์นักล่าในระบบนิเวศ โดยไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่างเมเทรียแคนโธซอริดอาจล่าสัตว์กินพืชขนาดใหญ่อย่างไดโนเสาร์กลุ่มมาเมนชิซอริดหรือสเตโกซอริด
ในขณะที่สัตว์กินพืชขนาดเล็กอย่าง มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส อาจตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าระดับรองอย่างไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่ม รวมถึงการค้นพบนี้ยังช่วยทำให้เราเข้าใจถึงการกระจายตัวเชิงชีวภูมิศาสตร์บรรพกาลของไทแรนโนซอรอยด์ในช่วงปลายยุคจูแรสซิกอีกด้วย
งานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นรายงานการค้นพบไดโนเสาร์กลุ่มไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตอกย้ำความสำคัญของอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin GEOPARK ในประเทศไทยอีกด้วย
ข่าวโดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์