สทนช.จับมือหน่วยงานด้านน้ำ-จังหวัด เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนัก

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. ประสานทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝน ปี 2567 เดินหน้าเแผนปฏิบัติการตาม 10 มาตรการรับมือฤดฝน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้กลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ ติดตามป้องกันและแก้ปัญหาตลอดช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด ลดพื้นที่น้ำท่วมและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า  กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งในฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มเป็นปรากฏการณ์ลานีญาอาจเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ ซึ่ง สทนช.ได้ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

ล่าสุดได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ช่วงวันที่ 18-25 พฤษภาคม 2567ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้หน่วยงานต่างๆ เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการตามภารกิจให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินงานมายัง สทนช. ให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

    

                                                                      ไพฑูรย์ เก่งการช่าง

นอกจากนี้ สทนช. ยังได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำ บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และมาตรการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดพื้นที่เกิดอุทกภัยในทุกลุ่มน้ำ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งให้จัดทำแผนเผชิญเหตุ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงแหล่งกักเก็บน้ำ คันกั้นน้ำ การวางแผนการระบายน้ำ และการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มขึ้น ตลอดจนการแจ้งเตือนภัยและการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัย จะต้องมีความรวดเร็ว แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ขอให้ กทม. เฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เร่งรัดกำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางทางน้ำอื่นๆ เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลให้เหมาะสม รวมทั้งเตรียมแผนในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดชุดปฏิบัติการ กำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำเร่งทำการแก้ไขปัญหาตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่เขตชุมชนและพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้ตระหนักรู้กรณีเกิดสถานการณ์อุทกภัย ฝนตกหนัก และมีน้ำท่วมขัง แจ้งช่องทางรับทราบข้อมูลสถานการณ์และแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

สำหรับ 10 มาตรการรับรับมือฤดูฝน ปี 2567 ได้แก่ 1.คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 2.ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ 3.เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง 4.ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ 6.ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ 7.เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน 8.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ 9.การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์  และ 10.ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย

“แม้ขณะนี้จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ แต่ด้วยสภาพดินที่แห้งแล้งมายาวนานหลายเดือน ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาซึมลงดินเกือบทั้งหมด ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ ยังไม่มากนัก ดังนั้นเขื่อนแต่ละแห่งยังมีความจำเป็นจะต้องสำรองน้ำไว้เพื่อจัดสรรน้ำใช้ในช่วงต้นฤดูฝน คาดว่า ประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2567 เมื่อดินชุ่มน้ำแล้ว จึงจะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจะต้องสอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่าในช่วงนั้นๆ ด้วย สทนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี โดยต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่จะสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 ให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะการรักษาระบบนิเวศ การผลักดันน้ำเค็ม การอุปโภคบริโภค และการผลิตน้ำประปา เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับประเทศอย่างยั่งยืน” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว