กรมพัฒนาที่ดิน มุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างรายได้ภาคการเกษตร โดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่/เกษตรแม่นยำ (Precision Farming) สนับสนุนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมในการปลูกพืช
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมในการปลูกพืช ให้คำแนะนำการผลิตพืชในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการผลิตพืชสินค้าเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต และส่งเสริมสนับสนุนการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ผลิตปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงยังส่งเสริมการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ปราโมทย์ ยาใจ
ปัจจุบันโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 772,998 ไร่ 7,885 แปลง ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นแปลงใหญ่ข้าว แปลงใหญ่พืชไร่ แปลงใหญ่ไม้ผล-ไม้ยืนต้น และแปลงใหญ่พืชผัก-ไม้ล้มลุก โดยกรมพัฒนาที่ดินได้รับพื้นที่เป้าหมายดำเนินการจากกรมส่งเสริมการเกษตรตามพื้นที่พืชสินค้าเป้าหมาย และกรมการข้าวในพื้นที่แปลงใหญ่ข้าว (นาแปลงใหญ่) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพดินให้เหมาะสม ในการผลิตพืชในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ผ่านแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map)
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนข้อมูลพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชในแต่ละแปลง การตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อการเกษตรทำให้สามารถใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร การถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาที่ดินไปพร้อมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การไถกลบตอซังพืชแทนการเผาช่วยลดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ จากผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อปรับปรุงดินให้มีคุณภาพที่เหมาะสมในการปลูกพืช โดยเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้และวิธีการบริหารจัดการดินไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ช่วยลดต้นทุนการผลิต และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ส่งผลทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง มีทรัพยากรดินและน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป