“สมศักดิ์” เปิดงาน “วันน้ำโลก” ปี 67 ภายใต้แนวคิด “เพราะน้ำคือชีวิต” พร้อมเปิดตัวนักแสดงสาวหัวใจอนุรักษ์ “เชอรี่ เข็มอัปสร” เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ สทนช. ร่วมรณรงค์ “อนุรักษ์น้ำ” วอนคนไทยเยาวชน ตลอดจน ภาคการผลิตให้มีส่วนร่วมในการประหยัด อนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการน้ำ เพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมสำหรับลูกหลานในอนาคต
วันที่ 22 มีนาคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “วันน้ำโลก” ประจำปี พ.ศ.2567 โดยมี ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้การต้อนรับ ซึ่งปีนี้ สทนช. ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “เพราะน้ำคือชีวิต” มาร่วมมือกันดูแลน้ำอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้กับโลก สอดรับนโยบายขององค์การหประชาชาติ “Leveraging Water for Peace” หรือ “น้ำเพื่อสันติภาพ” พร้อมเปิดฉายวิดีทัศน์การแถลงสารจากนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศนโยบายและเจตนารมณ์ในการสร้างสันติภาพด้านน้ำให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทยและขยายผลสู่ประชาคมโลก
นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวนักแสดงสาวหัวใจอนุรักษ์ นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ เป็นผู้แทนประชาสัมพันธ์ (Brand Ambassador) ของสทนช. เพื่อร่วมรณรงค์ “อนุรักษ์น้ำ” โดยมีผู้ร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เอกอัครราชทูตและผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีความร่วมมือด้านน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงภาคประชาชน จำนวนกว่า 300 คนร่วมงาน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครอบคลุมให้ทุกภาคส่วนมีน้ำใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ. 2030 ทั้งนี้ การบริหารทรัพยากรน้ำจะประสบความสำเร็จได้นั้น หน่วยงานร่วมดำเนินการด้านน้ำจากทุกกระทรวงต้องร่วมมือกัน ทั้งในระดับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติ ทั้งจากการบูรณาการฐานข้อมูลและนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในทิศทางเดียวกันอย่างมี ระสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยอยากขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการให้บริการด้านน้ำเพื่อประชาชนและรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะเดียวกันประชาชน รวมถึงเยาวชน ตลอดจน ภาคการผลิตต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในการประหยัด อนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการ เพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมสำหรับลูกหลานในอนาคต และให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับนานาประเทศในการต่อยอดความร่วมมือด้านน้ำ ส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคและระดับโลก นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและสันติร่วมกันไปในทุกมิติ
ด้านดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยในช่วง 5 ปีแรก ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ทั้งการจัดสรรอุปโภคบริโภคด้วยการสร้างระบบประปาหมู่บ้าน การจัดการเพิ่มกำลังการผลิตประปาเมืองในพื้นที่เร่งด่วน และทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน โดยยึดหลักข้อตกลงการใช้น้ำที่เป็นสากล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
กิจกรรมสำหรับงานวันนี้ มีการมอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับนางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวผู้แทนประชาสัมพันธ์ (Brand Ambassador) ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ ของ สทนช. อย่างเป็นทางการอีกด้วย ทั้งนี้ คุณเชอรี่ เข็มอัปสร ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทและมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย มีการจัดแสดงนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “Leveraging Water for Peace” หรือ “น้ำเพื่อสันติภาพ” มีเนื้อหาประกอบด้วย 1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2.นิทรรศการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย 3.นิทรรศการสันติภาพน้ำระหว่างประเทศ และ4.นิทรรศการความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระดับชุมชน หรือแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice) รวมถึงความก้าวหน้านวัตกรรมที่ทันสมัยด้านน้ำและความร่วมมือนานาชาติในระดับเยาวชนด้วย
การจัดงาน “วันน้ำโลก” ในปีนี้ จึงนับเป็นการแสดงผลการดำเนินงานของหน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายด้านน้ำ ที่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การแลกเปลี่ยนแนวคิดและการขับเคลื่อนความร่วมมือการใช้น้ำอย่างประหยัดของภาครัฐ ภาคการศึกษาวิจัย ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และการแสดงพลังเยาวชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้ที่ได้มาตรฐาน อันจะส่งผลให้เกิดการขยายแนวร่วมลงมือปฏิบัติที่มีความเข้มแข็งตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป