“ธรรมนัส” ปลื้ม  ผอ.GIZ ชมแนวทางการดำเนินงานของ รมว.เกษตรฯไทยที่ให้ความสำคัญต่อดิน-น้ำ

  •  
  •  
  •  
  •  

“ธรรมนัส” ปลื้ม  ผอ.GIZ ชื่นชมแนวทางการดำเนินงานของ รมว.เกษตรฯไทยที่ให้ความสำคัญต่อดินและน้ำ ระบุเป็นปัจจัยหลักที่สามารถส่งผลต่อเนื่องไปยังปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ ขณะที่โครงการความร่วมมือระหว่าง GIZ กับไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ถือว่าเป็นวิกฤตภัยคุกคามที่ทั่วโลกต่อภาคการเกษตรร่วมกัน

วันที่ 20 มีนาคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจของสถานทูตเยอรมันประจำกรุงเทพฯ และนายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมันประจำประเทศไทย (GIZ) โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร. บุรินทร์ สุขพิศาล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว นายอาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ และสำนักการเกษตรต่างประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร้อยเอก ธรรมนัส  กล่าวว่า GIZ มีการดำเนินความร่วมมือที่ดีกับหลายหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้หยิบยกกรณีความร่วมมือโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวมที่จังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศประจำ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาด้านการจัดการดินและน้ำในการทำเกษตรกรรม และได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ มีแผนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเดือนเมษายน 2567

ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมแนวทางการดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญต่อดินและน้ำ เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่สามารถส่งผลต่อเนื่องไปยังปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ พร้อมเสริมว่า โครงการความร่วมมือระหว่าง GIZ กับไทยได้มุ่งเน้นทั้งการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate smart agriculture) ซึ่งถือเป็นวิกฤตภัยคุกคามที่ทั่วโลกเผชิญอยู่

ทั้งนี้ GIZ ยินดีที่จะช่วยประเทศไทยในมิติที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนนโยบายและข้อแนะนำในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดการปล่อยมลพิษ ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีกับเกษตรกร การสรรหาแหล่งเงินทุนให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่เกษตรรายย่อย ซึ่งนโยบายที่ GIZ พยายามจะขับเคลื่อนจะสอดคล้องกับ BCG Model ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากร คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยด้านอาหาร และการป้องกันสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการขยายโอกาสความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ อาทิ ความสนใจในประเด็นคาร์บอนฟุตพรินท์และคาร์บอนเครดิต โอกาสที่ GIZ จะสามารถต่อยอดโครงการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรด้าน climate change ที่ดำเนินงานร่วมกับ ADB ในปัจจุบัน การดำเนินโครงการนำร่องด้านผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในบางจังหวัด การถอดบทเรียนแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) จากพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการกับ GIZ การแลกเปลี่ยนเกษตรกรเรียนรู้การทำเกษตรกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Climate change และ Climate smart ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลไกบริหารภาพรวมโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ GIZ ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดต่อไป