ลดเผา มาบำรุงดินกันแล้ว!! ก.เกษตรฯจัดทำปุ๋ยหมักกองใหญ่จากชังข้าวโพดที่ อ.แม่แจ่ม

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ จัดทำปุ๋ยหมักกองใหญ่จากชังข้าวโพดและเศษพืช ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ป้องกันแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และช่วยลดหมอกควัน ฝุ่นละออง และเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้แก่เกษตรกร

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “โครงการรณรงค์การทำปุ๋ยหมักจากชังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และลดปัญหาหมอกควัน และ PM 2.5” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ บ้านต่อเรือ หมู่ที่ 2 ตำบลช่างเอิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อปลุกจิตสำนึก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบถึงประโยชน์จากการทำปุยหมัก จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 2) เพื่อสาธิตวิธีการทำปุ๋ยหมักที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่เกษตรกร เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน 3) เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนทัศนคติ งดการเผา และนำวัสดุที่เหลือใช้จากไร่นามาเป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต และ 4) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดหมอกควัน บรรเทาภาวะโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีนโยบายให้จัดทำปุ๋ยหมักกองใหญ่ขึ้นในพื้นที่ที่มีปริมาณเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวนมาก จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน และการป้องกันแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ช่วยลดหมอกควันและฝุ่นละออง โดยมีแผนการรณรงค์นำร่องในพื้นที่ อำภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการเผาเศษวัสดุก่อนการเพาะปลูกพืช เป็นปัญหาที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะหากเกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพอนามัยของประชาชน

สำหรับการดำเนินการในครั้งนี้ จะใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน สารเร่ง พด.1 ช่วยในการย่อยสลายเศษพืชและเศษวัสดุ ให้เกิดการหมักที่รวดเร็วให้เป็นปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพในการนำไปใช้ปรับปรุงดิน ให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและแร่ธาตุในดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดการพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต และส่งผลช่วยให้ลดภาวะหมอกควันที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร ลดปัญหาต่อชุมชน และทำให้สภาวะแวดล้อมดีขึ้น

“จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 2.98 ล้านไร่ มีเศษเหลือของวัสดุจากการเกษตร เช่น เศษชังข้าวโพด ดอซังข้าว และอื่น ๆ กว่า 1.16 ล้านตันต่อปี แต่เกษตรกรยังขาดการจัดการที่เหมาะสม มีการเผาทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรจะส่งผลกระทบต่อดิน ทำลายอินทรียวัตถุ ธาตุอาหารและจุลินทรีย์ในดิน การเผาเศษพืช 1 ตัน ทำให้สูญเสียธาตุไนโตรเจนประมาณ 2.3 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส ประมาณ 1.3 กิโลกรัม และโพแทสเชียมประมาณ 5.7 กิโลกรัม ขณะเดียวกันการเผาเศษพืช 1 ตัน เกิดหมอกควัน และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 6.05 ตัน”ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรนำเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่มาทำปุ๋ยหมัก จะทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าเป็นวาระจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่ ปี 2555 เพื่อแก้ไขวิกฤตสถานการณ์หมอกควันดังกล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า นอกจากการรณรงค์ไม่ให้มีการเผาในพื้นที่การเกษตรแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ในการนำเศษวัสดุทางการเกษตรกลับมาใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังมอบหมายกรมปศุสัตว์ในการรับซื้อวัสดุทางการเกษตรดังกล่าว เพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ ถือเป็นสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้เกษตรกร นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการแก้ไชปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ โดยรณรงค์ให้เกษตรกรการปรับเปลี่บนจากการปลูกข้าวโพดเป็นปลูกพืชชนืดอื่นที่มีรายได้ที่ดีกว่าเดิมด้วย