” ธรรมนัส” ประกาศมอบของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกรทั้งแผ่นดิน หลังลงนามในราชกิจจานุเบกษา เปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็น “โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร” พร้อมเดินหน้าก๊อกสองลุยโครงการโฉนดต้นไม้เศรษฐกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเจ้าของที่ดินต่อไป
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการให้บริการรับคำร้องขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร โดยมีนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ โรงเรียนสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ทั้งนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร ได้ประกาศเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน จำนวน 1,301,698 ไร่ ในพื้นที่ 18 อำเภอ 77 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 21.68 ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด และร้อยละ 39.38 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ที่ผ่านมาได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินแล้ว 18 อำเภอ 74 ตำบล เนื้อที่ดำเนินการที่ดินของรัฐ จำนวน 1,090,658 ไร่ เกษตรกรได้รับการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำนวน 81,832 ราย 114,723 แปลง 993,757 ไร่
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องเอกสารสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความมั่นคง ซึ่งการเปลี่ยนจาก ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ตอนนี้ทำได้แล้ว โดยเมื่อวานนี้ (1 ธ.ค. 66) ได้ลงนามเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 15 ธ.ค. 66 นี้ จะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับโฉนดพร้อมกันทั่วประเทศไทยในวันที่ 15 ม.ค. 67 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการจัดทำโฉนดต้นไม้ ที่เป็นไม้เศรษฐกิจ ที่จะสร้างมูลค่าให้กับเจ้าของที่ดิน ซึ่งหลังจากทำเรื่องโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรแล้ว จะทำเรื่องโฉนดต้นไม้ต่อไป
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอสว่างแดนดินซึ่งกรมชลประทานมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอสว่างแดนดินและอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร อาทิ แก้มลิง อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และฝาย รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงเกษตรกรรม ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพิ่มที่ชลประทานสร้างรายได้ที่มั่นคงมากยิ่งขึ้นให้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก ลดความสูญเสียต่อทรัพย์สินและพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย
สำหรับในส่วนของสัญญาและกรรมสิทธิ์ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมปศุสัตว์ ได้มอบกรรมสิทธิ์แม่โค – กระบือในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เป็นกรรมสิทธิ์แม่โค จำนวน 546 ราย และกรรมสิทธิ์แม่กระบือ จำนวน 266 ราย รวมเป็น จำนวน 812 ราย คิดเป็นมูลค่า 23,548,000 บาท และมอบสัญญายืมโค-กระบือเพื่อการผลิต จำนวน 1,173 ตัว เป็นโค จำนวน 718 ตัว กระบือ จำนวน 355 ตัว รวมเป็นมูลค่า 30,754,000 บาท ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดสกลนคร มีสัตว์ของโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จำนวน 9,887 ตัว เป็นโค จำนวน 6,239 ตัว เป็นกระบือ จำนวน 3,648 ตัว