ไทยเล็งผลักดันการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน เน้นปกป้องผลประโยชน์ของชาติ เข้าที่ประชุมคณะมนตรีฯ แม่น้ำโขง ครั้งที่ 30

  •  
  •  
  •  
  •  

“สมศักดิ์” เรียกประชุมคณะกรรมแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยชุดใหม่ตามมติแต่งตั้งของ ครม. เร่งเตรียมการฝ่ายไทยพร้อมเข้าร่วมประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 30 ณ กัมพูชา 24 พ.ย.นี้สั่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและรักษาความร่วมมือประเทศสมาชิกพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน    

 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2/2566 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566  ว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยครั้งแรกของคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 พ.ย. 66)

ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาการเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 30 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย. นี้ ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมีกรอบการหารือที่สำคัญ ได้แก่ 1) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุม และ 2) การอนุมัติ TOR ของผู้บริหารสูงสุดของสำนักเลขาธิการกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS CEO) เพื่อสรรหาคนของประเทศไทยเข้ารับตำแหน่ง โดยจะดำเนินการสรรหาในปี 2567 และเข้าดำรงตำแหน่งในปี ม.ค. 2568 – ม.ค. 2571

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบการหารือในการประชุมดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ สทนช. เสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบ และให้เสนอองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทย ต่อ ครม. เพื่อทราบในคราวเดียวกันด้วย พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยเพิ่มผู้แทน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้การให้ข้อคิดเห็นด้านวิชาการและการพิจารณากำหนดท่าทีของฝ่ายไทยในการประชุมเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สัมพันธ์กับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในระดับประเทศและระดับภูมิภาค สอดคล้องตามหลักการที่เป็นสหวิชาการและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ภายใต้พันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 โดยจะมีการลงนามคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  คณะกรรมการยังได้ติดตามความคืบหน้าของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามและเขื่อนภูงอย ของ สปป.ลาว โดยสำหรับทั้งสองโครงการ สทนช. ได้ประสานงานกับ MRCS และประเทศสมาชิก เพื่อดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยในวันนี้ได้เน้นย้ำให้ สทนช. เร่งดำเนินการตามมติที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ ของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยอย่างใกล้ชิด และยังได้เน้นย้ำหน่วยงานให้ความร่วมมือกับ สทนช. อย่างเคร่งครัด โดยนำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปดำเนินการต่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งรักษาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน

  

ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์แม่น้ำโขงและการคาดการณ์ล่วงหน้าจนถึงสิ้นปี ความความก้าวหน้าของการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ระหว่าง สทนช. แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเร่งรัดจัดทำ เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตุ – อุทกวิทยา และข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขื่อนตอนบนในลุ่มน้ำโขงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตอนล่างและส่งผลถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัว ทันต่อการบริหารจัดการน้ำและแจ้งเตือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นต้น โดย สทนช. จะเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุมและปฏิบัติตามข้อกำชับของรองนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศสมาชิก ควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ