เปิดแล้ว!! จุดตรวจสินค้าเกษตรแบบบูรณาการที่เมืองกาญจน์ “ธรรมนัส”ย้ำทุกหน่วยงานต้องช่วยสกัดยางเถื่อนทะลักชายแดน

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                               ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

“ธรรมนัส” เปิดจุดตรวจสินค้าเกษตรแบบบูรณาการใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน  อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หวังสกัดกั้นสินค้าเกษตรผิดกฎหมายทะลักจากประเทศเพื่อนบ้าน เน้นสินค้ายางพารา ที่ทำให้ราคายางภายในประเทศตกต่ำ

วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดจุดตรวจสินค้าเกษตรแบบบูรณาการ (ปศุสัตว์ พืช ประมง) พร้อมมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และพบปะเกษตรกรในพื้นที่ ณ ด่านศุลกากรสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระยะทาง 371 กิโลเมตร ประกอบด้วย ช่องทางเข้าออกตามธรรมชาติ 43 ช่องทาง และมีด่านชายแดนที่สำคัญ 2 ด่าน ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมืองกาญจนบุรี และจุดผ่อนปรนทางการค้า ด่านพระเจดีย์สามองค์ (จุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว) อำเภอสังขละบุรี

ร้อยเอก ธรรมนัส  ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มีการปลูกยางพาราจำนวน 103,705.86 ไร่ มีปริมาณผลผลิตเนื้อยางแห้งรวมทั้งจังหวัด 24,313.27 ตัน/ปี เป็นยางแผ่นดิบ 13,894.41 ตัน/ปี โดยใน อ.สังขละบุรี มีพื้นที่ปลูกยางพารา 22,858.68 ไร่ มีปริมาณผลผลิตเนื้อยางแห้ง 5,506.53 ตัน/ปี เป็นยางแผ่นดิบ 4,065.93 ตัน/ปี ซึ่งจากการที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการตรวจสอบปริมาณผลผลิตยางในพื้นที่และสินค้ายางนำเข้า เพื่อควบคุมการนำเข้าให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน กยท.จังหวัด และ กยท.สาขา ที่อยู่ในพื้นที่เขตพรมแดนจะวางแผนสำรวจการผลิตยางธรรมชาติของเกษตรกรทั้งรูปแบบของผลผลิตยางที่ขาย จำแนกเป็นน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าปริมาณยางที่ขายในพื้นที่นั้น ๆ มียางเถื่อนปนอยู่ด้วยหรือไม่ และกำหนดเป้าหมายสำรวจข้อมูลดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กยท. จะเร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการคู่ขนาน เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายเข้าสู่ไทย โดยจะจัดตั้งทีมสายลับยางเพื่อทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ เฝ้าระวังและสอดส่องการกระทำผิดกฎหมาย หากพบเบาะแสจะแจ้งแก่หน่วยงานผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมต่อไป อย่างไรก็ตาม กยท. พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง และจะชี้แจงให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทราบถึงโทษการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับควบคุมสถาบันเกษตรกรฯ ไม่ให้รับซื้อยางที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ กยท. จะขยายผลดำเนินการไปยังพื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ระนอง ตาก และเชียงราย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของรัฐบาลที่มีมาตรการในการพัฒนาคุณชีวิตของเกษตรกร จึงได้ขับเคลื่อนมาตรการในการตรวจจับการลักลอบการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศอย่างเข้มข้น โดยในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับรายงานว่าเป็นจุดที่มีการลักลอบนำเข้าสินค้ายางพาราจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงเกษตรฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และการยางแห่งประเทศไทย ได้สนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตรแบบบูรณาการ เพื่อเป็นจุดสกัดและคัดกรองสินค้าที่นำเข้าสินค้าภาคการเกษตร

ในส่วนของการลักลอบนำยางพาราเข้ามาในราชอาญาจักร ประเทศไทยเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อสกัดกั้นไม่ให้สินค้าภาคการเกษตรทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ที่ผ่านมามีการจับกุม ตรวจสอบและอายัติสินค้าได้หลายร้อยตัน และสำหรับมาตรการในเรื่องของยางพารา กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนในเรื่องราคายาง โดยมาตรการตอนนี้คือต้องการระบายยางพาราออกนอกประเทศ สนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศ  และที่สำคัญคือการจัดโซนนิ่งการกรีดยาง เพื่อป้องกันไม่ให้ยางล้นตลาด จึงเชื่อมั่นว่าจะทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน