กระทรวงเกษตรฯ สรุปความเสียหายจากที่มีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสานและภาคตะวันออก มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง รวม 42 จังหวัด เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 34 จังหวัด ผลกระทบด้านการเกษตรที่เป็นพืชได้รับผลกระทบมากที่สุด 23 จังหวัด ประมง 11 จังหวัด และปศุสัตว์ กระทบ 12 จังหวัด กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พร้อมแผนงานรองรับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 14 โครงการ
นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 6/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแจ้งในที่ขอให้ทุกหน่วยงานเข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในทุกด้าน และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจน ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการดูแลช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ โดยในช่วงวันที่ 1 – 25 ก.ย. 66 มีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง รวม 42 จังหวัด ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 34 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 8 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม อุดรธานี อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ โดยมีผลกระทบด้านการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ย. 66) ดังนี้
1. ด้านพืช พื้นที่ได้รับผลกระทบ 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน แพร่ เพชรบูรณ์ ลำปาง สุโขทัย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร เลย ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี อำนาจเจริญ จันทบุรี และจังหวัดตราด เกษตรกร 63,670 ราย พื้นที่ 453,364 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 310,018 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 136,911 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 6,435 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 1 ราย พื้นที่ (ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ) 1 ไร่ คิดเป็นเงิน 4,048 บาท
2. ด้านประมง พื้นที่ได้รับผลกระทบ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก แม่ฮ่องสอน พะเยา เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดตราด เกษตรกร 1,619 ราย พื้นที่ (บ่อปลา) 1,586 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
3. ด้านปศุสัตว์ พื้นที่ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ยโสธร ร้อยเอ็ด นครพนม หนองบัวลำภู อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และจังหวัดจันทบุรี เกษตรกร 4,036 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 176,093 ตัว แบ่งเป็น โค 8,134 ตัว กระบือ 2,721 ตัว สุกร 4,361 ตัว แพะ/แกะ 91 ตัว สัตว์ปีก 160,786 ตัว แปลงหญ้า 496 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
ขณะเดียวกัน หน่วยงานในพื้นที่ได้เข้าให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ย. 66) แล้ว อาทิ สนับสนุนเครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เครื่องสูบน้ำ 24 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 22 เครื่อง กระสอบทราย 1,750 ใบ เครื่องจักร-เครื่องมือ รวมทั้งสนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 60.43 ตัน ถุงยังชีพสัตว์ 361 ถุง ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 718 ชุด รักษาสัตว์ 266 ตัว และอพยพสัตว์ 4,192 ตัว
สำหรับในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมการป้องกันและบรรสาสาธารณภัยด้านการเกษตร ประกอบด้วย มาตรการรองรับฤดูแล้ง พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก อุทกภัย ดินถล่ม การเตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ และปัจจัยการผลิต แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ทั้งประเทศ แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง นโยบายและมาตรการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะรายละเอียดข้อมูลแผนงาน/โครงการ การป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้ง ปี 2566/67 โดยกำชับให้หน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานโดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ที่ประชุมพิจารณาทบทวนแผนงาน/โครงการรองรับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67 ที่กำหนดไว้ 4 แผนงาน 14 โครงการ ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเป็น