“ธรรมนัส” ลุยเมืองนราฯ ลั่นที่ดินทำกินทับซ้อนพื้นที่อุทยานเทือกเขาบูโด ถ้าชาวอยู่ก่อนต้องคืนและออกโฉนดให้

  •  
  •  
  •  
  •  

“ธรรมนัส” ล่องใต้สู่เมืองนราฯ กำชับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผลักดันงบประมาณสร้างห้องเย็นเก็บทุเรียนให้กับวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตทุเรียนกวน ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง หวังเพิ่มศักยภาพการผลิตส่งออกมาเลย์ พร้อมเดินหน้าเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนพื้นที่อุทยานเทือกเขาบูโด ยืนยันหากชาวอยู่ก่อนต้องคืนและออกโฉนดให้

วันที่17 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารจัดการของศูนย์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบริหารห้องเย็นบูกิต และรับฟังปัญหาด้านการเกษตรจากผู้แทนเกษตรกร ณ ศูนย์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบริหารห้องเย็นบูกิต ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตทุเรียนกวน ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นแหล่งผลิตทุเรียนกวนที่มีชื่อเสียง มีการแปรรูปและส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดนราธิวาส อย่างไรก็ตาม กลุ่มแปรรูปทุเรียนกวน มีปัญหาด้านการจัดเก็บเนื้อทุเรียน เพื่อยืดอายุของเนื้อทุเรียนในการนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวนตลอดทั้งปี โดยปัจจุบันมีห้องเย็นจำนวน 5 ห้อง แต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีบริษัท วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรทั่วไปที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเนื้อทุเรียน จำนวน 15 กลุ่ม ปริมาณผลผลิต ทั้งสิ้น 1,465 ตัน ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผลักดันงบประมาณเพื่อนำมาสร้างห้องเย็นอีกหนึ่งห้อง เพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ

สำหรับปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินบริเวณเทือกเขาบูโด ซึ่งชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดใน 9 อำเภอ ได้รับผลกระทบจากการออก พ.ร.บ.อุทยาน แห่งชาติ ปี 2562 ซึ่งประกาศเป็นเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติทับที่ดินที่ชาวบ้านทำกินอยู่ก่อน ในเรื่องนี้ได้ประสานไปยัง พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนที่ดินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสร่วมกัน

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่ดินทำกิน โดยเน้นย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าทำงานร่วมกันแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่ถูกต้องตามกฏหมาย และเกิดประโยชน์กับพื้นที่และชุมชน โดยจะต้องมีการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ หากอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยาน ก็จะต้องคืนให้กับชาวบ้านโดยออกเป็นโฉนดที่ดิน

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะ เดินทางพบปะกลุ่มเกษตรกร ณ เทศบาลเมืองตากใบ อำเภอตากใบ ต่อมา เดินทางตรวจติดตามพนังกั้นน้ำมูโนะ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ณ อำเภอสุไหงโก-ลก และตรวจเยี่ยมคลองชลประทาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำดำจากป่าพรุโต๊ะแดง ณ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ก่อนจะเดินทางไปตรวจติดตามผลการดำเนินงาน “ตากใบโมเดล” ณ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ