ไทย – ออสเตรเลีย หารือยกระดับความร่วมมือภาคการเกษตรและอาหาร เน้นแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของทั้งสองประเทศและขยายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่างๆ ไทยสบช่องนำเสนอภาพรวมการทำเกษตรยั่งยืนของกระทรวงเกษตรฯ ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือด้านเกษตรยั่งยืนของไทยในระดับภูมิภาค
วันที่ 7 กันยายน 2566 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมความร่วมมือด้านการเกษตรเกษตร ไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 23 (The 23rd Meeting of the Thailand – Australia Joint Working Group on Agriculture) และเป็นประธานร่วมกับนายแมทธิว โควาล (Mr.Matthew Koval) First Assistant Secretary of the Trade and International Division, Department of Agriculture, Fisheries and Forestry) หัวหน้าคณะฝ่ายออสเตรเลีย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือการแลกเปลี่ยนนโยบายด้านการเกษตร โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของทั้งสองประเทศและขยายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน พร้อมด้วยคณะผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักการเกษตรต่างประเทศ กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน กรมชลประทาน กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงแคนเบอร์รา เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมอมารี พัทยา และผ่านระบบการประชุมออนไลน์
ทั้งนี้ ในการประชุมได้รับทราบรายงานผลการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ณ กรุงเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย (The 22nd Meeting of the Thailand-Australia Joint Working Group on Agriculture) และรายงานผลการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร ระหว่าง ไทย – ออสเตรเลีย ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา (The 19th Meeting of the TAFTA SPS Expert Group)
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการดำเนินงานของไทยและออสเตรเลีย เกี่ยวกับการทำเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยฝ่ายไทยได้นำเสนอภาพรวมการทำเกษตรยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือด้านเกษตรยั่งยืนของไทยในระดับภูมิภาค ซึ่งนับว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
เนื่องจากเกษตรยั่งยืนเป็นวาระที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เพื่อรับมือกับความท้าทายความมั่นคงทางอาหาร ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีหากทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแบบยั่งยืนในอนาคต อาทิ การเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนผลการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่าง ไทย-ออสเตรเลียที่ดำเนินความร่วมมือระหว่างกันมาอย่างนานโดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำ การพยากรณ์สินค้าเกษตร ความร่วมมือด้านประมง ปศุสัตว์ รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถของเกษตรของรุ่นใหม่ ซึ่งแต่ละโครงการจะมีการแลกเปลี่ยนผู้เชียวชาญ นักวิจัย เกษตรกร และข้าราชการผ่านรูปแบบการวิจัยและพัฒนาร่วมเป็นหลัก โดยการดำเนินโครงการของฝ่ายออสเตรเลียและฝ่ายไทยเกือบทุกโครงการเกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบริหารจัดน้ำที่ฝ่ายออสเตรเลียเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยี แนวคิดการการทำงานและการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบได้รับน้ำอย่างทั่วถึง และจัดสรรน้ำได้อย่างเหมาะสม
อนึ่ง ออสเตรเลียเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 10 ของไทย โดยในปี 2565 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร ไทย-ออสเตรเลีย รวม 70,066 ล้านบาท นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 12 ของไทย โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปออสเตรเลีย มูลค่า 35,812 ล้านบาท และไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากออสเตรเลีย มูลค่า 34,255 ล้านบาท สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลียที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารสุนัขหรือแมว ซอสและของปรุงรสอื่น ๆ ข้าว อาหารปรุงแต่ง เช่น เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช น้ำผลไม้ เช่น น้ำแบล็กเคอร์แรนต์ น้ำมะพร้าว และปลาแซลมอนปรุงแต่ง ในส่วนของสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เนื้อโคกระบือแช่แข็ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม