ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล
กรมชลประทานสรุปสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 41,574 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเพียง 41 %ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด ยังรับได้อีกกว่า 1.4 หมื่นล้าน ลบ.ม. ขณะที่การทำนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 14.05 ล้านไร่ พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปีต่อเนื่อง แนะทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด
วันที่15 สิงหาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
.
ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (15 ส.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,574 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 34,763 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,293 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 14,578 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 0.56 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.29 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.55 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
แฟ้มภาพ.
ทั้งนี้ จากสถานการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อน จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศเร่งเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต รวมไปถึงจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก วางแผนทำแบบจำลองเพื่อบริหารจัดการน้ำในอนาคต มีการสำรวจทางน้ำ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บของอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง คลองส่งน้ำ คลองระบาย ชะลอ/กักเก็บน้ำในลำน้ำธรรมชาติ อาทิ ต้นน้ำจัดทำฝายชะลอน้ำ กลางน้ำ กักเก็บน้ำโดยเขื่อนทดน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และฝายต่างๆ
ส่วนปลายน้ำ ให้กักเก็บน้ำโดยใช้อาคารชลประทาน รวมไปถึงบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ที่สำคัญขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย