“ก.เกษตรฯ – สสส. – ภาคีอาหารเพื่อสุขภาวะ 40 หน่วยงาน” สานพลังพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืน พัฒนานวัตกรรมระบบอาหารชุมชนตลอดห่วงโซ่ ภายใต้แผน UN “อิ่มและดี 2030” ประกอบด้วย 5 ด้าน สู่ผลลัพธ์ทางสุขภาพก้าวกระโดด เตรียมเสนอต่อที่ประชุมระดับโลก ณ กรุงโรม 24 – 26 ก.ค. นี้
นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกิจกรรม Press interview เพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงเจตจำนงที่จะพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ในงาน Thailand Food and Agriculture Systems Stocktaking “เส้นทางสู่การพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พร้อมด้วย นางสาวนวรัตน์ เฉลิมเผ่า ผู้ช่วยผู้แทน FAO ประจำประเทศไทย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค หัวหน้าศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุม 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกปี 2564 (UN Food Systems Summit : UNFSS 2021) องค์การสหประชาชาติ (UN) สนับสนุนประเทศสมาชิกขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ทั้งวิธีการผลิต การกระจาย และการบริโภค เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “อิ่มและดี 2030” ซึ่งภายหลังจากการประชุมในครั้งนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างการรับรู้/การเข้าใจ ประเด็น “ระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน” ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบเกษตรและอาหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่าย สถาบัน สมาคม องค์กร และอื่น ๆ จนนำไปสู่การเกิดการสร้างเครือข่าย “Partnerships” ในการขับเคลื่อน โดย สสส. นับว่าเป็น 1 ใน “Partnerships” ที่สำคัญที่ร่วมขับเคลื่อน “ระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน” นับตั้งแต่ปี 2564 และยังมีหลายหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน ในด้านการวิจัยมีการดำเนินโครงการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาระบบอาหารของประเทศไทย (Policy Research for Thailand’s Food Systems Development) โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
สำหรับการขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนของสหประชาชาติใน 5 ประเด็น ภายใต้หัวข้อ “อิ่มและดี 2030” ประกอบด้วย 5 ด้าน ดังนี้ 1. “อิ่ม ดี ถ้วนหน้า” เข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ 2. “อิ่ม ดี มีสุข” ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน 3. “อิ่ม ดี รักษ์โลก” ส่งเสริมระบบการผลิตที่เพียงพอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. “อิ่ม ดี ทั่วถึง” ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่เสมอภาค เท่าเทียม และ 5. “อิ่ม ดี ทุกเมื่อ” สร้างระบบที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤต
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการทบทวนความก้าวหน้า แชร์ประสบการณ์ เตรียมความพร้อมในการจัดการประชุม Food and Agriculture Stocktaking Moment ระดับรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24–26 กรกฎาคม 2566 ณ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (ood and Agriculture Organization: FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี และการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) ก.ย. 2566 ต่อไป ซึ่งจะเป็นการทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าวครั้งแรกของโลกหลังจากการประชุมสุดยอดระบบอาหารปี 2564 และเป็นการทบทวนประเมินความคืบหน้าในการนำเส้นทางการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของประเทศไปใช้” รองปลัดเกษตรฯ กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มีพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะการสนับสนุนการพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 สสส. เร่งสานพลังภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ 1. ส่งเสริมให้เกิดความรอบรู้และบูรณาการความร่วมมือหนุนเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต 2. ส่งเสริมระบบตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน/ชุมชน 3. ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สื่อสารรณรงค์สังคมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
“โมเดลต้นแบบระบบอาหารชุมชนได้เน้นความสำคัญใน “การสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างก้าวกระโดด” ด้วยการขยายผลต้นแบบงานสร้างเสริมสุขภาพ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ พัฒนาต้นแบบแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย/อินทรีย์ พัฒนาผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจอาหารชุมชน ระดับกลางน้ำ ส่งเสริมระบบการขนส่ง/เชื่อมโยงผลผลิต และพัฒนารูปแบบการประกอบการให้เหมาะสมกับบริบทชุมชน วัฒนธรรม สร้างรายได้ชุมชน (ตลาดเขียว/ตลาดชุมชน/ตลาดเชิงสถาบัน) และ ระดับปลายน้ำ สื่อสารความรอบรู้การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ พัฒนาทักษะและสร้างจิตสำนึกสู่วิถีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดหวาน มัน เค็ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ ส่งผลสู่การผลักดันนโยบายสาธารณะ สร้างกระบวนการเรียนรู้และการสื่อสารที่มีประสิทธิผลและยั่งยืนในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับสากล” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นางสาวนวรัตน์ เฉลิมเผ่า ผู้ช่วยผู้แทน FAO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ตัวเลขคนอดอยากทั่วโลกหลังเผชิญโควิด-19 อยู่ที่ 820 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากในปี 2562 ถึง 132 ล้านคน มีประชากรโลกกว่า 3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ และกว่า 2 พันล้านคน ประสบปัญหาโภชนาการจากการบริโภค เช่น บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม น้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน กระทบต่อสุขภาพที่ส่งผลต่อรายจ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ FAO สนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมระบบอาหารทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องเป้าหมายหลักของกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ ที่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและระบบอาหารสีเขียว โดยเฉพาะการลดการสูญเสียอาหารและของเสีย เสริมสร้างการจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ และระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน ผ่านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRR) นำไปสู่การผลักดันนโยบายแก้ปัญหาการเกษตรระยะยาว