สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรจัดขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่ภาคการเกษตรในอนาคต รวมทั้งเพื่อแสดงผลการพัฒนา และผลของการดำเนินงานของยุวเกษตรกร ภายใต้แนวคิด 70 ปี ยุวเกษตรกรไทย ร่วมกำหนดอนาคตเกษตรไทยไปด้วยกัน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร เกิดความภาคภูมิใจและมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง และภาคการเกษตร มีการเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่ภาคการเกษตรในอนาคต รวมทั้งเพื่อแสดงผลการพัฒนา และผลของการดำเนินงานของยุวเกษตรกร
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 20 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โดยมียุวเกษตรกร ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านพัฒนาเกษตรกร เข้าร่วมงานจำนวน 470 คน และภายในงานจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายประเภท อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการดำเนินงานยุวเกษตรกร (70 ปี ยุวเกษตรกรไทย) นิทรรศการกลุ่มยุวเกษตรกรต้นแบบ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานยุวเกษตรกร กิจกรรมศึกษาดูงานฐานเรียนรู้การเกษตร ณ โครงการทหารพันธุ์ดี กิจกรรม Walk Rally กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การแข่งขันทำประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การแข่งขันการจัดสวนถาด การแข่งขันพูดส่งเสริมการเกษตร การแข่งขันแผนธุรกิจเกษตร และการแข่งขันตอบปัญหา (ด้านการเกษตร)
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการส่งเสริมเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่า 10-25 ปี ที่มีความสนใจด้านการเกษตร ให้เกิดการรวมเป็น “กลุ่มยุวเกษตรกร” อย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรในปี 2566 ไว้ 5 แนวทาง ประกอบด้วย
1) ส่งเสริมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับยุวเกษตรกรอย่างมีศักยภาพ
2) ส่งเสริมกลุ่มยุวเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง
3) สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
4) สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนายุวเกษตรกร
5) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนางานยุวเกษตรกรเชิงรุก
จะเห็นได้ว่าแนวทาง ทั้ง 5 มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการการสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตร และเสริมสร้างการเป็นผู้นำ ผ่านรูปแบบการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) อีกทั้งยังมีการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการกลุ่มยุวเกษตรกร โดยการแบ่งหน้าที่เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการปลูกฝังในเรื่องความรับผิดชอบ และความมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม เป็นการสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การส่งเสริมเกี่ยวกับเยาวชนด้านการเกษตรของประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2495 ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่อมาได้มีการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ให้แก่เยาวชนในโรงเรียน โดยเริ่มดำเนินการขึ้นที่โรงเรียนพรหมานุเคราะห์ ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นครั้งแรก ในปี 2496 ได้จัดตั้ง 4-H Club ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในช่วงปีแรกของการดำเนินงานได้มีการจัดตั้ง 4-H Club ขึ้นที่อำเภอบางคล้า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยนำรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาให้ใช้ชื่อว่า “หน่วยยุวกสิกร” แทนคำว่า 4-H Club รวมถึงมีการมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการส่งเสริมและจัดตั้งหน่วย ยุวกสิกร และเมื่อปี 2510 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้โอนงานส่งเสริมหน่วยยุวกสิกรมาเป็นภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร และเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มยุวเกษตรกร” ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา