น้ำเหนือทะลักไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ลบ.ม./วินาทีแล้ว ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนชัยนาทสูงขึ้น กรมชลประทานเร่งจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อน ให้เข้าไปในพื้นที่ว่าง หวังลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้มากที่สุด
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (6 ตุลาคม 2565) เมื่อเวลา 17.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,077 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 3,014 ลบ.ม./วินาที สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จ.อุทัยธานี วัดได้ 401 ลบ.ม./วินาที จากเมื่อวานนี้อยู่ที่ 371 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนยกสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่ +17.59 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก) เป็น +17.66 ม.รทก ระดับน้ำจะสูงขึ้น 7 เซนติเมตร
ทั้งนี้กรมชลประทาน บริหารจัดการโดยเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรับน้ำเข้าพื้นที่ว่างมากขึ้น ปัจจุบัน (6 ต.ค. 65) บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง ปริมาณการรับน้ำผันเข้าทุ่ง รวมกับปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่กว่า 763 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของความจุฯ ซึ่งยังมีที่ว่างเพียงพอในการรับน้ำหลากได้อีก
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำโดยเพิ่มการระบายน้ำเป็นลำดับแบบขั้นบันได บูรณาการทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่ในการมีส่วนร่วม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับความสอดคล้องในการระบายน้ำ และระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที