กรมชลฯ ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รับมือฝนตกทั่วไทย คาด “โนรู”เข้าไทย 28 ก.ย.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลฯ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกระลอกใหม่ ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักให้มากที่สุด คาดพายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู” เข้าพื้นที่ จ.มุกดาหารหรืออุบลราชธานี ในวันที่ 28 กันยายน 2565 นี้  

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู” มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.65 ส่งผลให้ประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 27-29 ก.ย.65 นั้น ตนได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกลและโครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้มีการระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งตามจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มเติม อาทิที่ จ.อาทิ สุโขทัย  ปราจีนบุรี นนทบุรี และปทุมธานี เป็นต้น  พร้อมให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้หมั่นกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไหลได้สะดวกมากขึ้น

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน เมื่อเวลา 06.00 น. (25 ก.ย.65) ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,968 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที มีแนวโน้มลดลงพายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)” ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออกของไทย บริเวณ จ.มุกดาหาร หรือ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 28 ก.ย. 65 ซึ่งอาจทำให้ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ตกหนักถึงหนักมากได้ และมีลมแรง

หลังจากนั้นกลุ่มฝนจะเลื่อนมาตกบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ตามแนวการเคลื่อนตัวของพายุ ผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.65 จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ด้วยการปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยงเป็นต้น