ผลมาจากฝนที่ตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆเพิ่มมากขึ้น เฉพาะเดือนกันยายน มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) กรมชลประทานเดินหน้าบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (17 กันยายน 2565) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 52,119 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 23,978 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,914 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 9,957 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากการติดตามปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ตั้งแต่วันที่ 1 – 17 กันยายน 65 พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกันประมาณ 5,950 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกันประมาณ 2,409 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกในแต่ละพื้นที่ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำใช้ในฤดูแล้งอย่างเพียงพอ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด