เลขาฯ กอนช.ลงพื้นที่ 3 เกาะติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ยันไม่สมทบ กทม.

  •  
  •  
  •  
  •  

 

เลขาฯ สทนช.” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ยก จ.นครสวรรค์ ตัวอย่างการเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมล่วงหน้า ชี้บึงบอระเพ็ดถูกใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำก่อนลงพื้นที่ตอนล่างได้เต็มศักยภาพ ก่อนน้ำเหนือลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เร่งประเมินสถานการณ์น้ำเตรียมเปิดศูนย์ส่วนหน้าภาคกลาง จ.ชัยนาท

      วันที่13 กันยายน 2565  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ในพื้นที่ จ.ครสวรรค์  ก่อนเดินทางต่อไปยังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท สุดท้ายที่ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง

      ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า  ต้องชื่นชมจังหวัดนครสวรรค์ที่เป็นด่านหน้าก่อนปริมาณน้ำเหนือไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งจากการรับฟังการเตรียมแผนป้องกันและบรรเทาผลกระทบในช่วงฤดูฝนของจังหวัด ตาม 13 มาตรการของ กอนช. พบว่าดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ตัวอย่างการจัดการน้ำป้องกันผลกระทบในช่วงฤดูฝนในพื้นที่อื่นได้เป็นอย่างดี บูรณาการข้อมูลร่วมกับ กอนช. มีการตั้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการพร่องน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ อาทิ การใช้บึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่หน่วงน้ำก่อนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง เป็นต้น

      สำหรับสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยาปัจจุบันมีการระบายน้ำผ่านเขื่อน 1,799 ลบ.ม./วินาที ซึ่ง กอนช.ได้เน้นย้ำแผนการระบายน้ำหากมีการปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนที่มีมากรวมถึงแนวโน้มฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลต่อปริมาณน้ำไหลลง 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักฯ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ เพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

      ทั้งนี้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.65) เขื่อนเจ้าพระยาจะเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดในอัตรา 1,800 – 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันที่เคยท่วมเดิมอาจได้รับผลกระทบ พร้อมยืนยันว่าปริมาณน้ำดังกล่าวจะไม่ลงไปกระทบพื้นที่ กทม.อย่างแน่นอน.