“ประพัฒน์” สอนมวยหน่วยงานรัฐ แนวทางแก้ญหาภัยพิบัติในภาคเกษตร ชี้หัวใจสำคัญต้องรวดเร็ว ทันการณ์

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประพัฒน์” สอนมวยหน่วยงานรัฐ ให้ข้อมูลในมือ มาเตรียมการ ซักซ้อม รับมือภัยพิบัติในภาคเกษตร และการช่วยเหลือเกษตรกรต้องด่วน โดยเฉพาะการเยียวยา และชดเชยความเสียจากธรรมชาติต้องรวดเร็ว ทันใจ ไม่ใช่ดองข้ามปีจนไม่ทันการณ์ ระบุเกษตรกรต้องการเงินทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น

         นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหามีพื้นที่น้ำท่วมขังเหตุจากปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้ฝนมาเร็วส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำฝนสะสมสูงมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับภาคกลาง หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าติดตามเพื่อร่วมกันวางแผนกับประเมินสถานการณ์

        อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถวางใจได้เพราะคาดว่ายังจะมีพายุเข้ามาอีกตามการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ว่าใน 1-2 เดือนนี้ อาจเกิดพายุขึ้น 2-3 ลูก ซึ่งบางลูกประเทศไทยอาจไม่ได้รับอิทธิพลโดยตรง ทางส่วนราชการมีข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำ พื้นที่เสี่ยง พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และอื่นๆ ควรใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เรื่องแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า  การเตรียมการ การสำรองเมล็ดพันธุ์ การซักซ้อมทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชน เพื่อรับมือและบรรเทา รวมทั้งโครงการประกันภัยกรณีพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการประกันภัยไว้

      ดังนั้นอยากวิงวอนภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่าทอดทิ้งชาวนา เกษตรกร เพราะหลายครอบครัวเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมไปแล้ว 2-3 รอบ ฟื้นตัวไม่ทัน ในขณะที่อดีตเรื่องการเยียวยานั้นมีหลายครอบครัวที่ได้รับเงินเยียวยาหรือชดเชยข้ามปี ด้วยขั้นตอนของส่วนราชการนั้นตั้งแต่ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ หนังสือรับรองประสบภัย  ประชาคมหมู่บ้าน เป็นต้น กว่าเม็ดเงินจะอนุมัติลงมาถึงมือชาวนา เกษตรกร มันไม่ทันการณ์

        ทั้งนี้หากถามว่าเงินเยียวยาเพียงพอต่อการทำนาในแต่ละครั้งไหม ไม่เพียงพอหรอกเพราะต้นทุนการทำนาไร่หนึ่งประมาณ 3,000-4,000 บาท แต่อย่างน้อยที่สุดเงินช่วยเหลือเยียวยาไร่ละพันกว่าบาทนั้นจะทำให้ชาวนา เกษตรกรได้เริ่มต้นเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง หลังน้ำลดเดือนกันยายนเริ่มต้นปลูกข้าวแล้วไปเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคมก็ยังไม่เสียปีการผลิตไป ทุกขั้นตอนการเยียวยาของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอยากให้เร็วและกระชับขึ้นทุกขั้นตอน และควรให้ท้องถิ่นเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมทำงานด้วย เพราะท้องถิ่นนั้นจะอยู่ใกล้ชิดกับชาวนา เกษตรกร ชาวบ้านมากกว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคสามารถลดภาระลงได้

      นายประพัฒน์  กล่าวอีกว่า  ทุกครั้งที่เป็นปีน้ำมากจากลานีญาพื้นที่เกษตรกรรมส่วนหนึ่งก็จะเสียหายไป แต่ส่วนที่ไม่เสียหาย เช่น พื้นที่ดอน พื้นที่นาน้ำฝนก็จะมีผลผลิตที่ดีขึ้น ปีนี้ก็คาดการณ์ได้ว่าข้าวกล้าจะดี พืชไร่ผลผลิตจะดีโดยรวม ข้าวโพดจะมาก มันสำปะหลังถ้าหากไม่เจอโรคใบด่างผลผลิตก็จะสูง เพราะว่าพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ดอนนอกเขตชลประทาน ปีไหนน้ำฝนดีปีนั้นผลผลิตก็จะดีด้วย ส่วนราชการที่รับผิดชอบต้องเตรียมการเรื่องการตลาดไว้รองรับ

     “ถ้าสังเกตุในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหากซีกโลกฝั่งบ้านเราน้ำท่วม น้ำมาก อีกซีกโลกหนึ่งก็จะแล้ง หลายประเทศจะเกิดผลกระทบพืชผลเสียหาย  ผลผลิตสำรองข้าวโลกก็จะลดลง เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสทางการตลาดส่งออกของประเทศไทยที่จะสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในปริมาณที่มากขึ้น มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ถ้ารัฐบาลบริหารจัดการได้ดีราคาก็จะดีขึ้น ส่วนที่เสียหายก็รีบชดเชยอย่างรีบด่วนเพื่อจะไม่ให้กระทบไปถึงชีวิตและก็สามารถฟื้นฟูการเร่งปลูกรอบต่อไปได้ครับ” ประธานสภาเกษตรกรฯ กล่าว