สทนช. ชู“แนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง” แก้ท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำชี-มูลล่างที่ยั่งยืนที่สุด

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                     (แฟ้มภาพ)

สำนักงานทรัพยากรน้ำฯ ชู “โครงการแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง” แก้ปัญหาท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่างอย่างยั่งยืนดีที่สุด คาดผลศึกษาแล้วเสร็จ ก.ย.นี้ ขณะที่ “กอนช.” เตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลในช่วงฝนตกหนักวันที่ 22–25 สิงหาคม 65 นี้  เร่งทุกหน่วยงานหามาตรการสกัดน้ำไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน

    นายสราวุธ  ชีวะประเสริฐ   รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำชีล่างและมูลตอนล่าง จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร ว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่างเป็นพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง

       ดังนั้นสทนช. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบในพื้นที่ 8.94 ล้านไร่ ครอบคลุม 395 ตำบล 50 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชี ลำน้ำมูล ลำเซบาย ลำเซบกและลำน้ำสาขา ประสบปัญหาอุทกภัยทุกปีเนื่องจากแม่น้ำมีลักษณะแคบ ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำชี โดยเฉพาะด้านท้ายน้ำเป็นประจำเกือบทุกปี

     ส่วนในลำน้ำมูลทางตอนปลายของแม่น้ำมักเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากแม่น้ำชี แม่น้ำมูล ลำเซบาย รวมทั้งลำน้ำสาขาอื่นของแม่น้ำมูล

      จากผลการศึกษาสภาพปัญหาหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง พบว่า โครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ดังกล่าวคือ โครงการที่มีประสิทธิภาพสูงในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนและเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง คือ โครงการแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง

      ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมส่วนที่เกินจากผังน้ำ 3.7 แสนไร่ ลดลงอีก 1.9 แสนไร่  โดยผันน้ำส่วนเกินของแม่น้ำชี ที่ระบายผ่านเขื่อนยโสธร-พนมไพรออกก่อนที่จะเข้าไปท่วมตัวเมืองทางด้านล่าง ไปเสริมน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่เกษตรกรรมฝั่งขวาใต้คลองผันน้ำที่มักประสบปัญหาภัยแล้งได้ในช่วงฤดูฝน 2.2 ล้านไร่ และ ช่วงฤดูแล้ง 0.22 ล้านไร่

     สำหรับแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง มีจุดรับน้ำอยู่ด้านเหนือเขื่อนยโสธร ทำการผันน้ำส่วนเกินของแม่น้ำชี ไประบายลงสู่แม่น้ำมูลด้านท้ายเขื่อนปากมูล รวมความยาว 180 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 แม่น้ำชี–ลำเซบาย ช่วงที่ 2 ลำเซบาย–ลำเซบก–ห้วยขุหลุ และ ช่วงที่ 3 ห้วยขุหลุ–ห้วยตุงลุง–แม่น้ำมูล อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการ       เป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก คือ การผันน้ำจากลุ่มน้ำชีไปยังลุ่มน้ำมูลจึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม     หรือ EIA ก่อนพัฒนาโครงการในขั้นตอนต่อไป

     ล่าสุด กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช.ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในช่วงวันที่ 24 – 29 สิงหาคม 65 พบว่าในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร  และคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชนในบริเวณ  2 ลุ่มน้ำในภาคอีสานดังนี้คือ

     -ลุ่มน้ำชี เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำชี บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานีและเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  ลำน้ำยังบริเวณอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด   ลำปะทาวบริเวณอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิและลุ่มน้ำมูลเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง

      -แม่น้ำมูลบริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ลำเซบก บริเวณ อำเภอม่วงสามสิบ ดอนมดแดง และตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ลำโดมใหญ่ บริเวณ อำเภอน้ำยืน นาจะหลวย บุณฑริก เดชอุดม นาเยีย และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี