กอนช. ประกาศเตือน…ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน พบ 3 แม่น้ำล้นตลิ่งแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

กองอำนวยการน้ำฯ ออกประกาศ ฉบับที่ 31/2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ช่วงวันที่ 22-25 สิงหาคม 2565 หลังประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2565 จะมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ 90 มิลลิเมตร และคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ล่าสุดพบ 3 แม่น้ำ “ป่าสัก-ชี-มูล” ล้นตลิ่งแล้ว

                                       ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

                                                        ฉบับที่ 31/2565

                              เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน

      กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2565 พบว่าในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2565 จะมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ 90 มิลลิเมตร และคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน ในช่วงวันที่
22 – 25 สิงหาคม 2565 ดังนี้

       1.ลุ่มน้ำป่าสักเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณ อำเภอหล่มเก่า และหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ คาดการณ์ระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสักประมาณ 0.60 เมตร

       2.ลุ่มน้ำชีเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำชี บริเวณ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำยัง บริเวณ อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ลำปะทาว บริเวณ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ

       3.ลุ่มน้ำมูลเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำมูล บริเวณ อำเภอเมืองอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ลำเซบก บริเวณ อำเภอม่วงสามสิบ ดอนมดแดง และตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ลำโดมใหญ่ บริเวณ อำเภอน้ำยืน นาจะหลวย บุณฑริก เดชอุดม นาเยีย และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

        ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

       1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

        2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

        4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

                                          ประกาศ ณ วันที่    21     สิงหาคม 2565