กรมชลฯ ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือน 11 จังหวัดเฝ้าระวัง

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทยอยขึ้นเป็นลำดับเท่าที่จำเป็นอัตราอยู่ระหว่าง 700 – 1,100 ลบ.ม./วินาที ให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักในช่วงวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2565

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า (ช่วงวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2565) ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับในช่วงวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทย มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจากปริมาณฝนในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้เกิดน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2565

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (5 ส.ค. 65) เวลา 12.00 น. ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +16.39 เมตรเทียบกับระดับน้ําทะเลปานกลาง ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อัตรา 699 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 700 – 1,100 ลบ.ม./วินาที เช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,100 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป แต่ในเบื้องต้น กรมชลประทานได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศประชาสัมพันธ์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา  รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังสำนักงานชลประทานในพื้นที่หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน