กอนช.ออกประกาศเตือน!! “เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน” 11-15 ก.ค.65 นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 20/2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลันช่วงวันที่ 10 – 15 กรกฎาคม 2565 ทุกภาคทั่วประเทศ

                               ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

                                                ฉบับที่ 20/2565

                   เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน

         ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 7 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ในช่วงวันที่ 10 – 14 กรกฎาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประกาศฉบับที่ 19/2565 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในช่วงดังกล่าวแล้วนั้น

       กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

  1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง

       ภาคเหนือ จังหวัดพะเยา (อำเภอเชียงคำ ปง และภูซาง) จังหวัดลำปาง (อำเภองาว แจ้ห่ม เมืองปาน และวังเหนือ) จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง วังชิ้น และสอง) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ วิเชียรบุรี และหล่มสัก)

       ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอด่านซ้าย และปากชม) จังหวัดหนองบัวลำภู
(อำเภอสุวรรณคูหา) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอกุมภวาปี ทุ่งฝน นายูง น้ำโสม บ้านดุง บ้านผือ พิบูลย์รักษ์ เพ็ญ วังสามหมอ สร้างคอม และหนองหาน) จังหวัดหนองคาย (อำเภอท่าบ่อ เฝ้าไร่ โพธิ์ตาก โพนพิสัย เมืองหนองคาย รัตนวาปี สระใคร และสังคม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอกุดบาก คำตากล้า เจริญศิลป์
นิคมน้ำอูน บ้านม่วง ภูพาน วานรนิวาส วาริชภูมิ ส่องดาว และอากาศอำนวย)

       จังหวัดยโสธร (อำเภอกุดชุม ทรายมูล ป่าติ้ว เมืองยโสธร และเลิงนกทา) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเทพสถิต หนองบัวแดง และเกษตรสมบูรณ์) จังหวัดขอนแก่น (อำเภอเขาสวนกวาง ชนบท เมืองขอนแก่น และอุบลรัตน์) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเขาวง คำม่วง นาคู สมเด็จ และสามชัย) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอโพนทอง และหนองพอก)
จังหวัดอำนาจเจริญ (อำเภอชานุมาน พนา เมืองอำนาจเจริญ ลืออำนาจ และหัวตะพาน)
จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอเมืองยาง) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขมราฐ โขงเจียม ตระการพืชผล ตาลสุม นาจะหลวย นาตาล พิบูลมังสาหาร โพธิ์ไทร ม่วงสามสิบ ศรีเมืองใหม่ และสิรินธร)

       ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอกระบุรี กะเปอร์ และเมืองระนอง) จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ และเมืองชุมพร) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอท่าชนะ) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี)

      2.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และแม่น้ำตาปี

       3.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณ ภาคเหนือ (จังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา)

      ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย สกลนคร ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี) ภาคตะวันออก (จังหวัดตราด) ภาคใต้ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

       ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้         1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

      2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำและติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

                                                   ประกาศ ณ วันที่    10    กรกฎาคม 2565