“มนัญญา” ปล่อยคาราวานสารวัตรเกษตร-อาสาสมัครกว่า 1,800 คน สกัดร้านค้าปุ๋ย–ยาปลอม ก่อนฤดูการเพาะปลูก

  •  
  •  
  •  
  •  

“มนัญญา” ปล่อยขบวนส่งสารวัตรเกษตร อาสาสมัคร 1,800 คนทั่วประเทศ เดินหน้าตรวจสกัดร้านค้าปุ๋ย–ยา ปลอม ก่อนฤดูการเพาะปลูก พร้อมกำชับให้พลิกโฉมสารวัตรเกษตรมิติใหม่ ต้องแนะนำให้ความรู้เกษตรกร-ร้านค้า ให้มีความรู้ความเข้าใจในถูกด้าน อะไรผิด-ถูก และต้องใกล้ชิดกับเกษตรกร

         นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีปล่อยขบวนสารวัตรเกษตร ออกปฏิบัติงานควบคุมปัจจัยการผลิตให้มีคุณภาพ รับฤดูกาลผลิตใหม่ ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ว่า การส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรออกตรวจสอบโรงงานผลิตปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช และสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชน และเกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพตรงตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรไว้ เพื่อรณรงค์ให้ผู้ประกอบการผลิตปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ

       “สารวัตรเกษตรในยุคนี้ เป็นการพลิกโฉมการปฏิบัติหน้าที่จากรูปแบบเดิม เพราะจะเข้าไปดูแล ให้คำแนะนำ สิ่งไหนที่ผิด สิ่งไหนที่ถูก เพื่อให้เกษตรกรได้มีความรู้ความเข้าใจ และใกล้ชิดกับเกษตรกรและผู้ประกอบการมากขึ้น สารวัตรเกษตรแบบใหม่จะต้องทำให้เกษตรกรอยากเข้าหาขอความรู้ คำแนะนำต่างๆ ได้ และขอฝากเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรทั่วประเทศให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ร่วมใจกันออกตรวจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน“ นางสาวมนัญญา กล่าว   

     ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า งานควบคุมตามพระราชบัญญัติเป็นภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สารวัตรเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ต้องดำเนินการรับผิดชอบกำกับดูแลงานตาม พ.ร.บ. ต่างๆ ถึง 6 ฉบับ ในพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 11 จังหวัด มีร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรกว่า 6,000 ร้านค้า มีพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ในเขตพื้นที่นี้เพียง 43 คน

       ทั้งนี้กลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จึงริเริ่มโครงการสารวัตรเกษตรอาสา ซึ่งเป็นการนำผู้นำชุมชน เกษตรกร และภาคส่วนต่างๆ มารับการอบรม และร่วมเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส เพื่อให้สามารถกำกับดูแลงานด้านนี้ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสารวัตรเกษตรอาสาใน 11 จังหวัดนี้ รวม 1,813 คน กรมวิชาการเกษตรจึงได้ขยายโครงการนี้ให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในสังกัดทั่วประเทศ

       สำหรับ 11 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร สกลนคร นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เลย และอุดรธานี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้มีการตรวจตามเบาะแส ตามข้อร้องเรียน สำหรับผู้ประกอบการที่ขออนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติปุ๋ย วัตถุอันตรายและพันธุ์พืช สามารถมีการจับกุมและดำเนินคดีข้อมูล ณ  วันที่ 28 ก.ย. 64 รวม 4 จังหวัด 4 คดี  รวมมูลค่า 5,770 250 บาท และในปี 2563 จำนวน 6 จังหวัด 15 คดี มูลค่า 51 ล้านบาท