“ ประวิตร” จี้ผู้บริหาร MRCS คนใหม่ เดินหน้าดันให้แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง

  •  
  •  
  •  
  •  

“ ประวิตร” ห่วงสถานการณ์น้ำโขง ย้ำผู้บริหาร MRCS คนใหม่ เร่งแผนป้องผลกระทบต่อประชาชน-ระบบนิเวศ หวังผลักดันให้แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง มิตรภาพ เชื่อมโยงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภาคีสมาชิก ภายใต้คำขวัญ “One Mekong One Spirit” ย้ำจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิกคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงสำหรับประเทศไทย ให้การต้อนรับ ดร. อานุลัก กิดติคูน (Mr. Anoulak Kittikhoun) หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและแนะนำตัว ภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมเข้าพบในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

พลเอก ประวิตร กล่าวต่อ ดร. อานุลัก ว่า ขอให้ MRCS ทำงานที่เน้นถึงการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยให้ MRCS ทำหน้าที่เป็นหน่วยศึกษา วิเคราะห์เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้ภาคีสมาชิกอย่างเป็นกลางและเต็มที่ มีการติดตามสภาวะสิ่งแวดล้อม พร้อมเร่งพัฒนากลไกและเครื่องมือในการติดตามศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมจากการพัฒนาบนแม่น้ำโขงสายประธาน

ทั้งนี้เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขง โดยให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน เพื่อผลักดันให้แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง มิตรภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภาคีสมาชิกภายใต้คำขวัญ “One Mekong One Spirit” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้าน ดร.สุรสีห์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการป้องกันผลกระทบต่าง ๆ ต่อประชาชนริมน้ำโขง โดยท่านรองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้มีการวิเคราะห์และศึกษาผลกระทบโครงการพัฒนาทุกโครงการบนแม่น้ำโขงสายประธาน อย่างละเอียด รอบคอบ ในทุกมิติ และประเทศผู้พัฒนาจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืนและสามารถดำเนินการในเชิงประจักษ์ได้ โดยไม่กระทบด้านความมั่นคงในทุกมิติ

นอกจากนี้ ให้มีการเร่งดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ทั้งตอนบนและตอนล่าง ผ่านการปรึกษาหารือของผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อการวางแผนแจ้งเตือนประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด