เกษตรฯ รวมพลังพันธมิต ” พลังงาน-ทรัพยากรฯ-สภาอุตฯหนุนพืชพลังงานผลิตไฟฟ้า-พลังงานความร้อน สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

กษตรฯ-พลังงาน-ทรัพยากรฯ-สภาอุตแห่งประเทศ จับมือลงนาม MOU ว่าด้วยรวมพลังสนับสนุนปลูกพืชพลังงาน เพื่อผลิตไฟฟ้าและผลิตพลังงานความร้อน หวังเพิ่มรายได้ให้ชุมชน และสร้างทางเลือกให้เกษตรกรไทย

      วันที่ 17 ธันวาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายสมัย ลี้สกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม MOU ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting

      ดร.เฉลิมชัย  กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ได้เน้นความสำคัญในการส่งเสริมการเพิ่มรายได้และสร้างทางเลือกให้เกษตรกร จากเดิมปลูกพืชที่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนที่ต่ำ มาเป็นการปลูกพืชพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมของพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงส่งเสริมให้มีการรวบรวมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการนำแผนการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย “Energy For All” มาเป็นกลไกสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเกษตรกร รวมทั้งใช้ประกอบในการคาดการณ์ปริมาณความต้องการไม้เศรษฐกิจโตเร็วและพืชพลังงานทดแทนเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าให้มีปริมาณที่เพียงพอและสม่ำเสมอ

     อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ และทุกหน่วยงาน ตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกร โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ และชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตามนโยบายในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีความสมดุล ทั้งการลดการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชทางเลือกที่ในพื้นที่เหมาะสม และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งแน่นอนว่า พืชพลังงานทดแทน เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกร โดยมีโรงไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่แน่นอน ที่จะร่วมผลักดันประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้

     ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรตาม Agri-Map ขณะที่ กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน จัดทำแผนส่งเสริมและข้อมูลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงานเพื่อผลิตพลังงานความร้อนเพิ่มเติม ข้อมูลความต้องการและวัตถุดิบจากพืชพลังงานในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกจากผลผลิต และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 

      กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าเชิงเศรษฐกิจ สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่มีศักยภาพเพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่แหล่งผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน สนับสนุนกล้าไม้ การวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไม้เศรษฐกิจโตเร็ว และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะร่วมประสานนโยบายและดำเนินการร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและพัฒนา รวมถึงศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมเกษตรและโรงไฟฟ้าจากพืชพลังงาน สนับสนุนการวิจัย อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรและแหล่งผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน โดยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมถึงให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป