กอนช. เฝ้าระวังภาคใต้ฝนเพิ่มขึ้น 28 พ.ย.-1 ธ.ค. นี้จับตาพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน

  •  
  •  
  •  
  •  
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. เร่งเคลียร์พื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง หลังฝนตกหนัก 1-2 วัน พร้อมจับตาพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำอย่างใกล้ชิด คาด 28 พ.ย.–1 ธ.ค. นี้ จะมีฝนเพิ่มขึ้น  ศูนย์ ปภ.เขต 11 ประสาน ปภ.จังหวัด เตรียมส่งเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังพลเข้าพื้นที่ทันที หากประเมินมีโอกาสเกิดภัยเกิน 60%
   นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา พบว่า บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่หลายจังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และพัทลุง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ได้เร่งแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยมีการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
   ล่าสุดสถานการณ์ที่ จ.พัทลุง คลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้ สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าในวันที่ 28 พ.ย. – 1 ธ.ค. 64 อิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและหย่อมความกดอากาศต่ำ จะส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย จ.ชุมพร อ.ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม พะโต๊ะ ประทิว และสวี จ.สุราษฎร์ธานี อ.ท่าชนะ ไชยา สมุย เกาะพะงัน ดอนสัก และกาญจนดิษฐ์ และ จ.นครศรีธรรมราช อ.ชะอวด ทุ่งสง นบพิตำ และพิปูน โดยเฉพาะระดับน้ำบริเวณคลองท่าดี อ.ลานสกา พื้นที่ใน จ.ตรัง และสตูล
     รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งอาจเกิดสถานการณ์น้ำหลากได้ และยังต้องติดตามเฝ้าระวังคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยที่จะมีกำลังแรงขึ้นเนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดระดับน้ำทะเลหนุนสูงได้ ในช่วงวันที่ 27-30 พ.ย. 64
     นอกจากนี้ จะมีการติดตามเฝ้าระวังน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่คาดว่าจะมีฝนตกหนัก รวมทั้งในพื้นที่ จ.กระบี่ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่า 100% ของความจุด้วย พร้อมกันนี้ ศูนย์ ปภ.เขต 11 ได้ประสานความร่วมมือไปยังปภ.จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยหากประเมินสถานการณ์พบพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยมากกว่า 60% จะมีการส่งเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมประสานหน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยทหาร ให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของแต่ละจังหวัด โดยศูนย์ ปภ.เขต 11 จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลเครื่องจักร เครื่องมือ จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ฯลฯ และรายงานมายังศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้เพื่อจัดสรรสนับสนุนเสริมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าในพื้นที่ต่อไป
      พร้อมกันนี้ได้กำชับให้มีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้าและประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ แก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ตามที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้เน้นย้ำความสำคัญ โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังหน่วยงานในแต่ละจังหวัด ช่วยดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลการแจ้งเตือนให้แก่เครือข่าย และเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ รวมถึงได้เชิญประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ เครือข่ายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับและส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกันด้วย
      “ในวันเสาร์ที่ 27 พ.ย. ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ ครั้งที่ 2/2564 ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อหารือเกี่ยวกับการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำระหว่างศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเตรียมการรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการหารือบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางและเขื่อนปัตตานี” นายชยันต์ กล่าว