“มนัญญา” ถกปปง.- ดีเอสไอ เช็คบิล อดีตคณะกรรมการ สอ.สรฟ. โกงกว่า 2 พันล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

“มนัญญา” ถก 3 หน่วยงาน “กรมส่งเสริมสหกรณ์-ปปง.- ดีเอสไอ”  บูรณาการ เอาผิดอดีตกรรมกาสหกรณ์รออมทรัพย์สโมสรรถไฟ โกงกว่า 2,279 ล้านบาท เผยการอายัดทรัพย์ทั้งที่ดิน อาคารชุด และอื่นๆ มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาทยังน้อยไป ยืนยันคดีนี้ต้องเป็นบรรทัดฐาน และต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด  

     วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และนายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมหารือสรุปผลการดำเนินการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ณ ห้อง 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     นางสาวมนัญญา กล่าวถึงกรณีปัญหาทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ) ที่อดีตกรรมการสหกรณ์กับพวกร่วมกันทุจริตนำเงินของสหกรณ์ไปซื้อที่ดินและทรัพย์สิน และโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของอดีตกรรมการสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2559 ว่า สร้างความเสียหายประมาณ 2,279 ล้านบาท และได้มีการดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าว วันนี้จึงหารือร่วมกับ 3 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันในการติดตามการดำเนินคดีดังกล่าว นอกจากนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไข ทำตามขั้นตอนอย่างโปร่งใส เป็นธรรม โดยได้หารือกับ ปปง. และได้มอบแนวทางในการนำทรัพย์สินสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.)  ที่อยู่ระหว่างการยึดอายัดไว้ตามกฎหมาย ปปง.มาบริหารเพื่อให้มีรายได้คืนกลับไปยังสหกรณ์ผู้เป็นเจ้าหนี้

     ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดหนี้และะเสริมสภาพคล่องสหกรณ์นั้นๆ แทนการปล่อยให้ทิ้งร้างหรือเสื่อมโทรม โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำซ้อน และต้องการให้คดีนี้เป็นบรรทัดฐาน ได้หารือกับ ปปง.ไว้แล้ว และให้เร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด  โดยปปง.ยืนยันว่า ตามกฎหมายสหกรณ์สามารถทำได้ แต่ขอเวลา 15 วันเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม และจะนำเรื่องนี้เสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ ให้รับทราบต่อไป 

      ทั้งนี้ กรณีของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ มีการอายัดทั้งที่ดิน อาคารชุด และอื่นๆ มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงมูลค่ามากกว่านั้น ซึ่งคิดว่าหากแนวทางนี้สำเร็จ ปปง.สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีรายได้คืนกลับไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้มากขึ้น ช่วยลดเวลาและลดภาระดอกเบี้ยของสหกรณ์ลูกหนี้จนกว่าระยะเวลาคดีสิ้นสุด

      คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ขณะที่สหกรณ์ลูกหนี้เช่นสอ.สรฟ.ก็จะมีสภาพคล่องในการบริการสมาชิกเพิ่มขึ้นจากภาระการชดใช้หนี้ที่ลดลง สำหรับสอ.สรฟ.นั้นมีหนี้ประมาณ 2,272 ล้านบาท ใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ 13 รายแล้วร้อยกว่าล้าน เหลืออีก 2 พันกว่าล้าน ซึ่งการชำระหนี้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ระหว่างสหกรณ์เจ้าหนี้และสอ.สรฟ. นอกจากนั้นจะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ไปเจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้เพื่อลดดอกเบี้ยให้เหลือประมาณ2%  อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันกรณีซ้ำรอยสอ.สรฟ. จึงได้มีนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง 2 -3 สหกรณ์ ทุก2 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทุจริตหรือยักยอกทรัพย์

     ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า สำหรับสอ.สรฟ.นั่นหลังมีการยึดอายัดทรัพย์ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้สอบสวนพบพฤติกรรมผู้ร่วมกระทำผิดกับอดีตกรรมการสหกรณ์ที่ได้มีการยื่นฟ้องก่อนหน้า9 คน เป็น 15 คน เนื่องจากพบการโอนเงินเชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันระบบสหกรณ์ทั้งหมดไม่ให้ซ้ำรอยสอ.สรฟ. กรมได้ร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ที่ต้องเฝ้าระวังให้ถี่ขึ้นโดยไม่รอรอบบัญชี ปัจจุบันได้มีการดำเนินคดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์  1-2 แห่ง สหกรณ์การเกษตร 3-4   แห่ง