ก.เกษตรฯ แจงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ภัยน้ำท่วม-ฟื้นฟูหลังน้ำลด

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                      ดร.ทองเปลว กองจันทร์

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม ชี้ในส่วนของความเสียหายจะชดเชยชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลัง พร้อมซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลดด้วย 

     ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2564 และมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรและซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลด ว่า เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย หย่อมความกดอากาศต่ำ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พักปกคลุมทะเลอันดามัน รวมถึงอิทธิพลจากพายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” และ “เตี้ยนหมู่” ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำป่าไหลหลาก ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมจนถึงปัจจุบัน จำนวน 40 จังหวัด 114 อำเภอ 

      ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยไปแล้ว โดยกรมชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 281 เครื่อง, เครื่องผลักดันน้ำ 99 เครื่อง, เครื่องจักรอื่น ๆ 73 เครื่อง กรมประมงสนับสนุนเรือตรวจการ 7 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ 30 ราย และกรมปศุสัตว์อพยพสัตว์ จำนวน 100,854 ตัว สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ จำนวน 152.2 ตัน สนับสนุนอาหาร TMR จำนวน 6 ตัน สนับสนุนแร่ธาตุ 450 ก้อน ถุงยังชีพสัตว์ จำนวน 930 ถุง และเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ จำนวน 1,580 ตัว

    สำหรับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และมาตรการอื่น ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการปรับเกณฑ์เงินชดเชยเพิ่มขึ้นจากหลักเกณฑ์เดิมในปี 2556 กรณีเสียหายสิ้นเชิง ประกอบด้วย ด้านพืช ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท/พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท/ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่

  ด้านประมง ปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ กุ้ง/หอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ ตรม. ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตรม.

  ด้านปศุสัตว์ อาทิ โค ตัวละ 13,000–35,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) กระบือ ตัวละ 15,000–39,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) สุกร ตัวละ 1,500–3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)

  ด้านอื่น ๆ อาทิ ช่วยเหลือค่าขนย้ายดินโคลนไม่เกิน 35,000 บาท/ราย ช่วยเหลือค่าปรับเกลี่ยพื้นที่ เหมาจ่าย 800 บาท/ไร่ ช่วยเหลือค่าปรับพื้นที่ทำนาเกลือ ไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ ช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท/ครัวเรือน และช่วยเหลือค่าซ่อมแซมคอกสัตว์/โรงเรือน/ยุ้งข้าว ครัวเรือนละไม่เกิน 5,700 บาท เป็นต้น

    ขณะเดียวกันได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรและซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ประสบภัยในเบื้องต้น เช่น กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด เลย และศรีสะเกษ เป็นต้น ซึ่งจะเน้นการหยุดยั้งความเสียหายแก่ผลผลิต โดยเฉพาะไม้ผล ไม้ยืนต้น ปศุสัตว์ขนาดใหญ่ และเสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงินแก่ครัวเรือนเกษตร รวมถึงการซ่อมแซมเครื่องจักรกลทางการเกษตรและสำรวจซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน ประกอบด้วยมาตรการดังนี้ คือ 

    1) สำรวจความเสียหายและแจ้งสิทธิการช่วยเหลือทางการเงินตามระเบียบกระทรวงการคลัง/ประกันภัยกับ ธ.ก.ส. (ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) การขยายระยะเวลาชำระหนี้/สินเชื่อ ทั้งการลดและปลอดดอกเบี้ย

    2) จัดหน่วยเคลื่อนที่ลงปฏิบัติการ ให้คำแนะนำการฟื้นฟู ดูแลพื้นที่เสียหาย ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ฟื้นฟูผลผลิตให้สู่สภาพปกติ

     3) สนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ทำการเกษตรและชุมชนลุ่มต่ำ เพื่อให้ชุมชนและพื้นที่เกษตรมีความพร้อมทำการผลิตรอบต่อไป

     4) สนับสนุนอุปกรณ์และองค์ความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดินและการบำบัดน้ำเสีย ทั้งในพื้นที่เกษตรและแหล่งน้ำของชุมชน เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิต

     5) สนับสนุนปัจจัยการผลิต พันธุ์พืช พันธุ์ผัก กล้าพันธุ์พืชผัก ไม้ผล ชีวภัณฑ์ และพันธุ์สัตว์ เพื่อผลิตเป็นอาหารไว้บริโภค ลดรายจ่ายในครัวเรือน

     6) ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อช่วยฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศน์และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

     7) สนับสนุนการซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้งานในดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรได้ตามปกติ และ 8) สำรวจซ่อมสร้าง โครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานเพื่อป้องกันภัยพิบัติและการบริหารจัดการน้ำในระยะต่อไปด้วย.