ใกล้ความจริงแล้ว ผลการศึกษาผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลใช้ใน EEC คาดเสร็จในเดือนตุลาคมนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. ประชุมแลกเปลี่ยนเชิงเทคนิคเรื่องการผลิตน้ำจืดจากทะเลร่วมกับนานาชาติ 6 ประเทศ เน้นแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใน EEC อย่างยั่งยืน ล่าสุดสรุปความหน้าในการดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 89 คาดแล้วเสร็จกลางเดือนตุลาคมนี้ 

     วันที่ 28 กันยายน 2564  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิค ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ ห้องประชุม 308 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมถ่ายทอดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ ผู้แทนจาก สทนช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้แทนจากสถานทูตสเปน ฝรั่งเศส อิสราเอล จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

      ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิคในวันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลของประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศสเปน ฝรั่งเศส อิสราเอล จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์  ซึ่งประเทศไทย ทาง สทนช. ได้ร่วมกับสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่ศึกษาในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเมืองพัทยา เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องอิงสภาพน้ำฝน-น้ำท่าตามธรรมชาติ

      ผลจากการดำเนินโครงการได้มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้านเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการคัดเลือกพื้นที่ตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล อัตรากำลังการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่เหมาะสม การคัดเลือกเทคโนโลยการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ผลกระทบการระบายน้ำทิ้งจากระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมไปถึงงานศึกษาในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และการลงทุน ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ศึกษา พบว่า พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเป็นพื้นที่การใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง และความเสี่ยงจะเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่จังหวัดชลบุรี

     จากการวิเคราะห์อัตรากำลังการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่เหมาะสมจากการศึกษาสมดุลน้ำ บ่งชี้ว่าสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำในปี 2570 จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบ Desalination บนพื้นที่บริเวณมาบตาพุด ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลบ.ม./วัน โดยจะต้องมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการพัฒนาระบบสำรองเพิ่มเติมในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย อีกประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน และในปี 2580 จะมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบ Desalination บนพื้นที่บริเวณมาบตาพุด ขนาดไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม./วัน โดยจะต้องมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการพัฒนาระบบสำรองเพิ่มเติมในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย อีกประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน และการพัฒนาระบบ Desalination บนพื้นที่บริเวณพัทยา – ชลบุรี ขนาดประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน

     สำหรับการคัดเลือกเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจากการตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า กระบวนการ RO หรือ Reverse Osmosis ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนน้ำทะเลผ่านสู่ระบบเยื่อกรองด้วยแรงดันสูง เป็นกระบวนที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สามารถใช้ร่วมกับพลังงานทางเลือกได้ และมีความยั่งยืนมากกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ทั้งยังเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาจนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ต่ำกว่ากระบวนการอื่น ๆ

      ผลการวิเคราะห์ประเมินตามเกณฑ์พิจารณา พบว่าพื้นที่มีศักยภาพสูงที่เหมาะสมสำหรับตั้งโรงผลิตน้ำจืดจากทะเลอยู่บริเวณพื้นที่มาบตาพุด (นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการพิจารณาเงื่อนไขของการสำรวจพื้นที่จริงและกระบวนการชดเชยที่ดินและทรัพย์สินตามหลักฐานการถือครองและการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามแนวองค์ประกอบโครงการต่อไป

      อย่างไรก็ตาม การศึกษาไม่เพียงมุ่งเน้นในแง่ของเทคโนโลยีและการลงทุนที่คุ้มค่าเท่านั้น แต่ สทนช. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการศึกษาได้มีการคัดเลือกระบบบำบัดขั้นต้นและระบบการจัดการเกลือเข้มข้นและน้ำทิ้งที่เหมาะสม ทั้งยังวิเคราะห์ผลกระทบในการระบายน้ำทิ้งจากระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ตั้งแต่กระบวนการสูบน้ำ กระบวนการผลิตน้ำจืด ไปจนถึงการกำจัดเกลือเข้มข้น ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ร้อยละ 89 ซึ่งรวดเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ คาดว่าโครงการศึกษาฯ จะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้