นายกฯประกาศบนเวทีโลก “ไทยมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

นายกรัฐมนตรีไทย โชว์วิสัยทัศน์ในเวทีประชุมระดับโลก ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม “สุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก” (UN Food Systems Summits: UNFSS) ท่ามกลางผู้นำประเทศต่างๆกว่า 155 ประเทศ  ประกาศประเทศไทยพร้อมมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและสมดุลมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ย้ำต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารและทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs พร้อมชูโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการของเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร

     วันที่ 24 กันยายน 2564 เวลา 03.30 น. ตามเวลาประเทศไทย (ซึ่งตรงกับเวลา 16.30 น. ของวันที่ 23 กันยายน 2564 ณนครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summits: UNFSS) ร่วมกับผู้นำกว่าอีก 155 จากทั่วโลกซึ่งจัดขึ้นในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly : UNGA76) ผ่านระบบประชุมทางไกล

                                                      พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

   พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยมีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่จึงตระหนักดีถึงความสำคัญของระบบอาหารที่มีต่อความอยู่รอดของทุกชีวิตสถานการณ์โควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางของระบบอาหารที่เกิดขึ้นในทุกประเทศอย่างชัดเจนจึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ร่วมมือกันพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและสมดุลมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ   ประการสำคัญคือต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารและทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs

      สำหรับประเทศไทยมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการของเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารอีกทั้งกรอบข้อเสนอในการพลิกโฉมระบบอาหารทั้ง 5 ด้านของสหประชาชาติมีความสอดคล้องกับแนวทางของไทยซึ่งได้นำวิสัยทัศน์ “มั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน” มากำหนดนโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางอาหารหรือ Safety ความมั่นคงหรือ Security และความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตรหรือ Sustainability

     อีกทั้งประเทศไทยอยู่ระหว่างขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความยั่งยืนสมดุลและครอบคลุมซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและ SDGs มาเป็นเข็มทิศนำทาง

     นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดินและน้ำและได้ร่วมกับสหประชาชาติจัดตั้ง “วันดินโลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีขณะเดียวกันก็ได้ร่วมกับ FAO มอบรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ให้แก่ประเทศองค์กรหรือบุคคลที่มีผลงานโดดเด่นในด้านดังกล่าวด้วยและในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆทั้งภายในและระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดนำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือFoodSystems4SDGs โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

     ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลักของการประชุม UNFSS ได้เตรียมการและเข้าร่วมกิจกรรมของการประชุม UNFSS ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยได้แต่งตั้งให้นายระพี ภัทร์จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก (National Dialogues Convenor) ซึ่งได้เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการสนับสนุนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก(UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021)

     พร้อมกันนี้ได้วางแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืนโดยจัดเวทีชวนคิด..ชวนคุยระดับชาติ (National Dialogues) มากกว่า 10 ครั้งร่วมกับทุกภาคส่วนรวมทั้งมีการประชุมหารือกับหน่วยงานสหประชาชาติและ FAO ในประเทศไทยเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารประเทศไทยและนำมาจัดทำเป็นท่าทีประเทศไทยในการประชุม UNFSS ในครั้งนี้

     ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ในการประชุมเตรียมการระดับรัฐมนตรีได้ร่วมนำเสนอผลจากเวทีชวนคิด..ชวนคุยที่จะพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนใน 4 ประเด็นได้แก่ 1) ประชาชนต้องมีความสามารถในพึ่งพาตนเองด้านอาหารตั้งแต่ระดับครัวเรือนโดยประเทศไทยโชคดีที่ได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และดำเนินโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในทุกตำบลทั่วประเทศเป็นหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบอาหารและการเกษตร

     2) จะต้องบูรณาการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อหาจุดสมดุลในทุกมิติโดยกำหนดเป้าหมายคำจำกัดความของความยั่งยืนที่เข้าใจตรงกันสามารถยอมรับและทำงานร่วมกันโดยที่เศรษฐกิจก็สามารถอยู่รอดได้เพื่อให้ประชาชนทุกคน “อิ่ม” และ “สุขภาพดี” และมีระบบการผลิตอาหารและการเกษตรส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้น้อยที่สุด 3) การสานพลังของทุกภาคส่วนเกษตรกรชุมชนเครือข่ายภาคประชาชนและภาคธุรกิจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่จะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติดินน้ำป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและ 4) การมีธรรมาภิบาล (Governance) เป็นกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่

    ต่อมาในเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ดร.ทองเปลว  กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมแถลงข่าวประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน “อิ่มและดี 2030” “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดพันธกิจและผลการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติโดยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืนจึงได้ร่วมกันดำเนินการในส่วนต่างๆได้แก่

    1) จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2) สร้างองค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน 3) พัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติและ 4) สื่อสารสังคมเพื่อเสนอประเด็นสำคัญต่อสาธารณะจนเกิดการรับรู้ตระหนักและสานเสริมพลังขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน