พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ผันน้ำแม่น้ำยมเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ลดท่วม ได้น้ำไว้แล้งหน้า

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทานสบช่อง ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสผันน้ำที่เอ่อตลิ่งของแม่น้ำยมเข้าสู่ทุ่งบางระกำ เก็บไว้ใช้เพื่อการเกษตรในหน้าแล้ง ล่าสุดเก็บน้ำได้แล้วในพื้นที่ 113,594 ไร่ มีปริมาณน้ำกว่า  149 ล้าน ลบ.ม ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 250 ล้าน ลบ.ม. แถมยังสามารถบรรเทาน้ำท่วมสุโขทัยและเจ้าพระยาตอนล่างได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย 

      วันนี้(23 ก.ย. 64) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระว่างนำคณะลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ตามข้อสั่งการของ พลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้กรมชลประทาน เร่งบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัย ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด


                                                ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

    ดร.ทวีศักดิ์  เปิดเผยว่า เนื่องจากยังคงมีปริมาณฝนตกในพื้นที่จ.สุโขทัย อย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุด(23 ก.ย. 64)อ่างเก็บน้ำแม่มอก ยังคงมีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น มีพื้นที่ได้รับผลกระทบท้ายน้ำ บริเวณ อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.ศรีสำโรง โครงการชลประทานสุโขทัย ได้จัดจราจรน้ำในแม่น้ำยม โดยใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านหาดสะพานจันทร์ ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 127.20 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายผ่าน ปตร.คลองหกบาท ในอัตรา 49.59 ลบ.ม./วินาที และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลัก 61.72 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมให้แม่น้ำยมสายหลักมีระดับน้ำต่ำลง ทำให้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก ระบายลงแม่น้ำยมได้

     พร้อมกันนี้ได้ผันระบายน้ำเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำยม ผ่านคลองต้นข้อ และคลองบ้านหลุม รวม 42 ลบ.ม./วินาที อีกด้านหนึ่งจะใช้ปตร.บ้านยางซ้าย ลดการระบายน้ำไปยังด้านท้าย เพื่อให้น้ำจากทุ่งทะเลหลวง และคลองแม่รำพัน สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้

     สำหรับพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ปัจจุบัน(23 ก.ย. 64)มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว 113,594 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 149.78 ล้าน ลบ.ม ร้อยละ 40 ของความจุ ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 250 ล้าน ลบ.ม. กรมประมง ได้ปล่อยพันธุ์ปลาลงทุ่งบางระกำแล้ว 3 ล้านตัว เพื่อให้ราษฎรในพื้นได้ทำประมงทดแทนรายได้ทางการเกษตรในช่วงฤดูน้ำหลาก

      ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ สำรวจพื้นที่เสี่ยงพร้อมนำเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าติดตั้งพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที

      ที่สำคัญให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำยม บูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา