เปลี่ยนแผนปฎิบัติการฝนหลวง เลี่ยงพื้นที่ฝนตกหนัก-น้ำท่วมขัง

  •  
  •  
  •  
  •  

วาสนา วงษ์รัตน์

กรมฝนหลวงฯ เปลี่ยนแผนปฎิบัติการ หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก และพื้นที่น้ำท่วมขัง ขณะที่อีก 158 อำเภอครอบคลุม 36 จังหวัด ในภาคอีสานตอนล่างยังขาดน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค กินพื้นที่ 328 แห่ง 

     วันที่ 21 กันยายน 2564 นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง เปิดเผยว่า จากข้อมูลแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักมากในบริเวณพื้นที่ภาคกลาง รวมไปถึง
ภาคตะวันออกบางส่วน และมีฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้บางส่วน

      ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความจำเป็นต้องติดตามข้อมูลสภาพอากาศจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อระมัดระวังในเรื่องของภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ แต่ขณะเดียวในอีกหลายพื้นที่ของประเทศ พบว่า ประชาชนและเกษตรกรที่ยังได้รับปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค มีการมีแจ้งขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีจำนวนรวม 328 แห่ง ครอบคลุม 36 จังหวัด 158 อำเภอ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการแจ้งขอรับบริการฝนหลวงมามากที่สุดถึง 142 แห่ง

     ฉะนั้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ยังคงติดตามสถานการณ์และวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือในพื้นที่ที่ต้องการน้ำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ได้รับปริมาณน้ำฝนเพียงพอแล้ว ล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.64) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา ลำปาง นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรีขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้เขื่อน จำนวน 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 4 แห่ง

       สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาห์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ดังนี้
    – หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล
    – หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สระบุรี ลพบุรี และจ.นครสวรรค์


    – หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สกลนคร อุดรธานี และพื้นที่รับน้ำเขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนลำปาว
    – หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุบลราชบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรตอนบนของ
จ.ศรีสะเกษ
     – หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.มหาสารคาม
และจ.ร้อยเอ็ด
    – หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำ จ.ประจวบคีรีขันธ์

    อย่างไรก็ตาม  กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่มีน้ำท่วมขังหรือพื้นที่ที่ไม่มีความต้องการน้ำเพิ่มเติมแล้ว อย่างไรก็ตามอีก 9 หน่วยฯ ยังคงติดตามสภาพตลอดทั้งวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที

     พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100