สทนช.เร่งเดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียง-ต้นน้ำพอง หวังลดท่วม-คลายแล้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช.เร่งแผนหลักบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียง และต้นน้ำพอง หลังผลการศึกษาพบเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 3,700 ไร่ เสี่ยงภัยแล้ง 487,000 ไร่ กระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรกรรม การท่องเที่ยว ชี้เน้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

    วันที่ 9 กันยายน 2564  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงหนองทุ่ม และแก้มลิงโสกหินเหล็กไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียง และต้นน้ำพอง ที่ ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายจังหวัดในภาคอีสานฝั่งตะวันตก ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เลย ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก

    เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์มีค่าต่ำกว่าปกติในช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำต่ำมาก และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงช่วงฤดูแล้ง ซึ่งในปี 2563 พบว่า เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บต่ำที่สุดในรอบ 53 ปี ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่น้ำไหลเข้าสู่ระบบประปาได้น้อย ต้องลดความดันการส่งน้ำเข้าสู่ระบบประปา จากสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้น

    ดังนั้น สทนช. จึงต้องเร่งศึกษาการจัดทำแผนเพื่อลดผลกระทบอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากอย่างบูรณาการในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย ภายใต้โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียง และต้นน้ำพอง ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 3,700 ไร่ เสี่ยงภัยแล้ง 487,000 ไร่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ การขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรกรรม การท่องเที่ยว คุณภาพของแหล่งน้ำ รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำในพื้นที่

    ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการอนุรักษ์ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ หากจะพัฒนาให้ยั่งยืน ที่สำคัญจะเน้นบูรณาการหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้ได้ด้วยตนเอง ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด

    ” เมื่อมีแผนหลักการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียง และต้นน้ำพองแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การจัดทำแผนงานด้านน้ำทุกระดับในพื้นที่มีทิศทางการพัฒนา มีเป้าหมายที่ชัดเจน และเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งสุดท้ายคือทำให้การแก้ไขและการบริหารจัดการด้านน้ำต่างๆ เริ่มต้นได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

     เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังถือโอกาสติดตามผลสำเร็จโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบกลางปี 2563 ที่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมขัง โดยเป็นการเก็บสะสมปริมาณน้ำ 2,600 ลบ.ม./ปี ไว้ในชั้นใต้ ซึ่ง สทนช. พร้อมให้การสนับสนุนให้โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินในระดับท้องถิ่น ให้กับพื้นที่ที่มีปัญหาอื่นๆ ได้นำไปขยายผลดำเนินการในรูปแบบเดียวกันด้วย