สทนช. ลงพื้นที่อีกรอบ หารือหน่วยงานแก้ไขน้ำท่วม-น้ำแล้งลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่าง หนุนผลการศึกษาแผนหลัก “ผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง” หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งในพื้นที่ 5 จังหวัด คาดทำประพิจารณ์รับฟังเสียงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เสร็จภายในปีนี้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่บ้านโอด ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในเกณฑ์สูง ทาง สทนช. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ในพื้นที่ 395 ตำบล 50 อำเภอ 5 จังหวัด คือ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี เพื่อจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ และตอบความต้องการในพื้นที่ได้ตรงจุดและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
จากผลการสำรวจ พบว่า ตั้งแต่เหนือเขื่อนยโสธรในแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลบริเวณรอยต่อของ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งประมาณ 4.5 ล้านไร่ คิดเป็นกว่า 51% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด สาเหตุเกิดจากมีปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ขาดแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพราะข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ ในขณะเดียวกัน ในฤดูฝนก็มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมกว่า 2 ล้านไร่ หรือ 24% ของพื้นที่โครงการ
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการศึกษาได้มีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ปัญหาในรายละเอียด เพื่อพิจารณาแผนหลักอย่างบูรณาการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมทั้งโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่สำคัญได้ โดยมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการข้อมูลและแผนการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง นอกจากจะจัดเป็นพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูงแล้ว ยังนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ในการผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ห้วยตุงลุง-แม่น้ำโขง
ทั้งนี้เพื่อตัดยอดน้ำในลุ่มน้ำชีตอนล่างก่อนไหลลงไปบรรจบกับน้ำที่มาจากแม่น้ำมูลตอนบนและไหลผ่าน อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นแผนงานที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่เป้าหมาย (Area Based) ลุ่มน้ำชีตอนล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเส้นทางแนวผันน้ำขนาดความกว้างของคลอง และปริมาณน้ำที่ผัน ที่ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาและต้องวิเคราะห์โครงการอีกหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือต้องมีการนำเสนอข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ มาปรับใช้ในการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา
สำหรับผลประโยชน์ของแนวทางการผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ห้วยตุงลุง-แม่น้ำโขง พบว่า จะทำให้น้ำอุปโภค-บริโภค ให้กับลำน้ำสาขาและนำไปใช้เป็นน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาได้ 11 อำเภอ 3 จังหวัดที่อยู่บริเวณลำน้ำสาขา สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตเสริมน้ำให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำตามแนวผันน้ำในพื้นที่ 17 อำเภอในพื้นที่จังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองยโสธร คำเขื่อนแก้ว เขื่องใน เมืองอุบลราชธานี ตาลสุม ดอนมดแดง รวมทั้งยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำในบริเวณพื้นที่ส่งน้ำที่เปิดใหม่
อย่างไรก็ตาม โครงการศึกษาดังกล่าวจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกจำนวน 2 ครั้ง ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 นี้ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นที่ได้รับจากภาคประชาชน นำไปเป็นประโยชน์สำหรับการปรับปรุงพัฒนาเพื่อสรุปเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง ทั้งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ไปจนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งมิติวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไปในอนาคต