สทนช. เร่งแก้ปัญหาแหล่งน้ำดิบรองรับการท่องเที่ยว-พัฒนาภาคเกษตรใน อ.สวนผึ้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. ลงพื้นที่พื่อเร่งแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำใน อ.สวนผึ้ง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของราชบุรี หลังประสบปัญหาแหล่งผลิตประปาไม่เพียงพอ ดันแผนก่อสร้างประตูระบายน้ำให้เสร็จโดยเร็ว หวังให้มีแหล่งน้ำดิบเพื่ออุปโภคบริโภค รองรับการท่องเที่ยวหลังโควิด และเพื่อการเกษตรในพื้นที่

    ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตประปาของอำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี  แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แต่การประปาอำเภอสวนผึ้งซึ่งใช้น้ำดิบจากแม่น้ำภาชีอยู่ในลุ่มน้ำแม่กลอง มักประสบปัญหาน้ำดิบไม่เพียงพอในการผลิตน้ำประปา เนื่องจากฝายสวนผึ้งที่ทำหน้าที่เก็บกักและยกระดับน้ำหน้าจุดสูบน้ำดิบของการประปาสวนผึ้งพังทลาย ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้จากสภาพท้องน้ำที่เป็นตะกอนทราย รวมทั้งน้ำป่าไหลหลากจากฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำกัดเซาะตัวฝายเสียหาย รวมทั้งยังไม่มีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำตอนบนของแม่น้ำภาชีด้วย

    ขณะเดียวกัน บริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำภาชีบริเวณชุมชนตำบลหนองไผ่ ใกล้ตัวอำเภอด่านมะขามเตี้ย ในช่วงน้ำหลากประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี เนื่องจากถนนกีดขวางการระบายน้ำและมีช่องระบายน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สทนช. ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งรัดงานก่อสร้างประตูระบายน้ำสวนผึ้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ตามแผนที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 แบ่งเป็น  ก่อสร้างหัวงาน ปี’66-69 และก่อสร้างระบบ ปี’70-72 เพื่อให้การประปาสวนผึ้งมีแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการอุปโภคบริโภคของรีสอร์ทต่างๆ ในอำเภอสวนผึ้ง

    ขณะที่แผนระยะต่อไปจะเร่งผลักดันการพัฒนาแหล่งน้ำและปรับปรุงประตูระบายน้ำที่เหลืออีก 4 แห่ง ในลำภาชี     ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้แก่ภาคการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม การบรรเทาอุทกภัย และลดการกัดเซาะพังทลาย เนื่องจากสภาพลำน้ำเป็นตะกอนทราย รวมทั้งประสานงานกรมทางหลวงชนบทให้รีบเข้ามาแก้ไขการระบายน้ำของทางหลวงชนบท 2 สาย และบรรเทาอุทกภัยให้แก่ชุมชน อ.ด่านมะขามเตี้ย อีกด้วย

    ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำภาชี และอยู่ในแผนปฏิบัติการตามเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรน้ำในโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มแม่กลอง เนื่องจากอยู่ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่สร้างความมั่นคงน้ำอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกัน ยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ด้วย