ฝนถล่มหนักในหลายพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับสภาะฝน พร้อมประสานไปจังหวัดและโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประกาศเตือนให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่างตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน(5 ก.ย. 64)ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 841 ลูกบาศก์เมตร/วินาที(ลบ.ม./วินาที) สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีกประมาณ 55 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 563 ลบ.ม./วินาที คาดว่าปริมาณน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเกณฑ์ประมาณ 600 – 700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงบริเวณต.กระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทาน ได้ประสานไปยังจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(5 ก.ย. 64) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,725 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,029 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,100 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. – 4 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลลง 4 เขื่อนหลัก รวมกันประมาณ 369 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าเก็บกักน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝน
ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปีพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีการทำปีไปแล้ว 6.67 ล้านไร่ หรือร้อยละ 84 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 7.97 ล้านไร่) มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.41 ล้านไร่
“กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนในการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำให้กระทบกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆให้น้อยที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว