กรมชลฯปรับแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง วอนชาวนางดทำนาปีต่อเนื่อง

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทาน ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยวนาปีแล้ว ลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย เหตุน้ำในเขื่อนยังมีน้อย

   กรมชลประทาน รายงานถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน (25ส.ค. 64) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,808 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 14,878ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 37,260ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,325ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,629ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 13.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ

     ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อยเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องปรับการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศยกเว้นเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่ยังคงทำการระบายอยู่ที่ 4.32 ล้านต่อวัน เพื่อช่วยเสริมการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากที่สถานีวัดน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีปริมาณน้ำไหลผ่านในเกณฑ์น้อย จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้ว ให้งดการทำนาต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำเป็นต้องปรับการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ โดยในวันนี้ที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพียง 196 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ที่สถานีวัดน้ำท่า C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีการระบายน้ำได้เพียง 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

    ดังนั้นจึงกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศทำการบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต เน้นเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และให้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    อย่างไรก็ตาม หากต้องการสอบถามสถานการณ์น้ำหรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา