มก.กำชับทุกวิทยาเขต นำ “KU 3 S” ช่วยประชาชนรอบมหาวิทยาลัยสู้โควิด เป้าหมายสู่การปรับอาชีพที่มีความยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์

อธิการบดี ม.เกษตรฯ กำชับให้ทุกวิทยาเขต ช่วยเหลือประชาชนรอบของมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด  ภายใต้นโยบาย KU 3S : survival, sufficiency, sustainability ทั้งระยะเร่งด่วนมอบสิ่งของที่จำเป็น ระยะกลางเน้นพัฒนาอาชีพเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และระยะยาว เร่งพัฒนานวัตกรรม  ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพ และพัฒนาทักษะให้สูงขึ้น 

    ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 รอบที่ 3 เมื่อต้นเดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 4 เดือน ทำให้มีการแพร่เชื้อกันอย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เกือบ 500 คน เป็นนิสิต 421 คน จากจำนวนนิสิตทั้งสิ้น 72,155 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.58  ส่วนใหญ่ ติดจากในครอบครัว และที่พักอาศัย

    อย่างไรก็ตาม นิสิตส่วนมากจะมีอาการค่อนข้างน้อย จึงเข้าระบบ home isolation และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เร่งส่ง กล่อง KU help health เพื่อช่วยบรรเทา ดูแลสุขภาพและรักษาอาการผู้ติดเชื้อ พร้อมทั้งมีระบบติดตามสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้ติดเชื้อซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนิสิต แล้วยังเป็นประโยชน์ต่อคนในครอบครัว ซี่งพบว่าในกรณีของนิสิต มีการติดเชื้อทั้งครอบครัว

     ดร.จงรัก กล่าวอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากการระบาดค่อนข้างยาวนาน ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ ลำบากในการดำรงชีพ ตนได้มอบนโยบายให้ทุกส่วนงาน ทุกคณะ วิทยาเขต ช่วยเหลือประชาชน ที่อาจจะขาดรายได้ ทำให้ ขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะ ผู้ที่เจ็บป่วยหรือตกงาน

     ดังนั้นจึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนช่วยเหลือในระยะสั้น ที่ทุกวิทยาเขต ได้นำอาหาร น้ำดื่ม นมเกษตร ยารักษาโรค และสิ่งของจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตไปมอบแก่ประชาชน เด็ก และผู้สูงวัยที่อยู่ที่บ้านตามชุมชนต่างๆ รอบมหาวิทยาลัย และวิทยาเขต และถ้าบุคคลเหล่านั้นสามารถออกมาปฏิบัติงานได้ ก็อาจจะหาทางจ้างงานในระยะสั้นๆ เพื่อแบ่งเบาความเดือดร้อนของประชาชนรอบมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อพาประชาชนรอด KU พารอด สอดรับกับโครงการ อว. พารอด หรือ survival

    สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในระยะกลาง ทุกส่วนงานของ มก. จะต้องเร่งให้ความรู้ในการพัฒนาอาชีพในทั้งการเกษตร เลี้ยงสัตว์และสัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตผลและผลิตภัณฑ์ การดูแลสวนและต้นไม้ การทำอาหาร ศิลป หัตถกรรม การค้าขาย การตลาดออนไลน์ เทคโนโลยี และ digital เพื่อช่วยประชาชน ให้แข็งแรงขึ้นอย่างพอเพียง หรือ sufficiency

     ส่วนระยะยาว เร่งพัฒนานวัตกรรม และ ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือพัฒนาทักษะให้สูงขึ้น หรือ reskill,  สร้างแรงงานเข้มแข็ง หรือupskill .และทักษะใหม่ หรือ new skill ให้ประชาชน ให้เป็นคนไทยที่แข่งขันได้บนพื้นฐานของประเทศ ทั้ง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ,นวัตกรรมและความยั่งยืนของธุรกิจ (innovation) ,มูลค่าเพิ่ม (value added) อย่างแบ่งปัน หรือ sharing และ ยั่งยืน คือ sustainability

ข่าวโดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์