เฉลิมชัย ศรีอ่อน
“เฉลิมชัย” ประกาศประเทศไทยพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค มุ่งสู่ปี 2573 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนทุกคนในภูมิภาคสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีโภชนาการตลอดเวล
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการจัดทำแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค มุ่งสู่ปี 2573 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในอีก 10 ปีข้างหน้า ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพว่า การดำเนินงานเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้พยายามอย่างสูง รวมทั้งต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาชิกเอเปค คณะทำงานต่าง ๆ ของเอเปค และองค์การระหว่างประเทศ และภูมิภาค ที่ดำเนินการด้านความมั่นคงอาหาร
ดร.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็นการปฏิรูประบบอาหารได้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมเตรียมการ การประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก ซึ่งได้นำเสนอเป้าหมายการมุ่งสู่การเป็นครัวของโลก โดยขับเคลื่อนการดำเนินนโยบาย 3S ได้แก่ ความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืน ในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเกษตร
ทั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการผลิตสินค้าเกษตร และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดิน และน้ำ อย่างยั่งยืน ซึ่งแนวคิด BCG จะช่วยพัฒนา ภาคเกษตรใน 3 ด้าน คือ ประสิทธิภาพสูง คุณภาพและมาตรฐานสูง และเกษตรกรมีรายได้สูง ที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร ตามแนวคิด ทำน้อยได้มาก
ในส่วนของการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในระดับท้องถิ่นและชุมชน ไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาดำเนินงาน คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีความมุ่งหวังในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอาหารของเด็กและเยาวชน โดยการดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารเสริมนมเพื่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนการปลูกสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และการผลิตอาหารอนาคตจากแมลงและพืช เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติดีที่แต่ละเขตเศรษฐกิจได้ดำเนินการจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิกเอเปค เพื่อสนับสนุนระบบอาหารที่เปิดกว้าง เป็นธรรม โปร่งใส มีภูมิกัน และยั่งยืน และนำไปสู่ความมั่นคงอาหารและโภชนาการในภูมิภาค ซึ่งแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี 2573 นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานร่วมกันของสมาชิกเอเปคต่อไป