สทนช.ย้ำจุดยืนการพัฒนาด้านน้ำต้องอาศัยความร่วมมือจัดการน้ำข้ามพรมแดน

  •  
  •  
  •  
  •  

10 ชาติอาเซียน และอีก 4 ชาติสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ร่วมวงถกแผนยกระดับความร่วมมือฝ่าวิกฤติโลกร้อน สู่ความมั่นคงน้ำในภูมิภาค สทนช.ย้ำจุดยืนการพัฒนาด้านน้ำที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจัดการน้ำข้ามพรมแดน

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ในฐานะผู้แทนไทยในคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC Joint Committee)  ในการเสวนาระดับภูมิภาคระหว่างอาเซียน – คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (ASEAN – MRC ) เกี่ยวกับความมั่นคงด้านน้ำ: ทางออกสำหรับภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไป ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นแบบผสมผสาน (hybrid) โดยมีศูนย์กลางการประชุมระดับภูมิภาค ณ กรุงเวียงจันทร์ สปป. ลาว

     งานนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRCS เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยประเทศไทยเป็น Hub การประชุมในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่ง สทนช.ได้เน้นย้ำในเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า รัฐบาลไทยตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและบูรณาการระหว่างองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ รวมถึงใช้กลไกการจัดตั้งสถาบัน กฎหมายน้ำ และแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำ20 ปี

    เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางน้ำให้เกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในทุกระดับไม่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง MRC และอาเซียน ผ่านเครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับท้องถิ่น นักวิชาการ หน่วยงานเกี่ยวข้องไปจนถึงระดับนโยบาย  และเห็นว่ากลไกด้านน้ำต่างๆ ที่ริเริ่มโดย MRC สามารถสร้างการทำงานร่วมกันในความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำในภูมิภาคได้

       ขณะเดียวกัน ไทยยังได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในไทยที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้น จากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้เพิ่มความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของน้ำจืดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งกระทบกับความมั่นคงด้านน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐบาลเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยมีเป้าหมายการพัฒนาภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี  รวมถึง สทนช.ได้เน้นย้ำถึงการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน ทั้งในเรื่องแลกเปลี่ยนข้อมูล  และความรู้ทางเทคนิคที่เชื่อถือได้ แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญเพื่อต่อสู้กับความท้าทายทางน้ำ ที่ต้องการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

      สำหรับกิจกรรมการเสวนาครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้   ประสบการณ์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงด้านน้ำในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจาก สทนช. ในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา พร้อมด้วยทีมเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศไทยเข้าร่วมนำเสนอแนวคิดการใช้กากกาแฟจากวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในการบำบัดน้ำเสีย  

     ทั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญนำไปสู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการ แนวทางการขับเคลื่อนในเรื่องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ  คุณภาพน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของอุณหภูมิเฉลี่ย การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ความถี่ที่เพิ่มขึ้นของสภาพอากาศที่รุนแรงและผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงทางน้ำทั่วโลกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย