“KU พารอด” ช่วยเหลือชุมชนกลุ่มเกษตรกร จังหวัดนครปฐม

  •  
  •  
  •  
  •  

 

     สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นำสิ่งของบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา บุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประชาชน และภาคเอกชน ไปมอบให้กับชุมชนโดยรอบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งต่อ ‘กำลังใจ’และ ความช่วยเหลือให้ประชาชน  คนไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 ภายใต้ ” โครงการ KU พารอด” ร่วมด้วยช่วยกันต้องพากันรอด ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนองนโยบายโครงการ “อว. พารอด” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้ก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ดร.กันยารัตน์  เชี่ยวเวช

    ดร.กันยารัตน์  เชี่ยวเวช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมกำแพงแสน กล่าวว่า สิ่งของที่นำไปมอบ ได้แก่  ข้าวสาร น้ำมันพืช ปลากระป๋อง ชุด PPE ยาแก้ไอ ยาแก้ไข้-แก้ปวด ยาฟ้าทะลายโจร ยาจันทร์ลีลา เกลือแร่ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอลล์ Dettol ถุงขยะดำ-แดง ฯลฯ

     โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนและ ประชาชน ตลอดจนภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทโรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด และ มูลนิธิเพื่อสังคมไทย สำหรับชุมชนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ให้ความช่วยเหลือนั้น เป็นชุมชนที่มีผู้มีความเสี่ยงสูงถูกกักตัวและรักษาตัวที่บ้านจำนวนกว่า 1,500 คน  เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ดังนี้

     1.ชุมชนดอนพุทรา และชุมชนห้วยขวาง มีผู้มีความเสี่ยงสูงที่ถูกกักตัว 1,265 คน ผู้ติดเชื้อรักษาตัวเองที่บ้าน 52 คน และผู้ติดเชื้อในศูนย์พักคอย 50 คน ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)

    2.ชุมชนทุ่งลูกนก และชุมชนบางปลา มีผู้มีความเสี่ยงสูงที่ถูกกักตัวที่บ้าน 298 คน และผู้ติดเชื้อรักษาตัวเองที่บ้าน 47 คน ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการ social engagement โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมกำแพงแสน ที่ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ไข่แดง (ชุมชนทุ่งลูกนก) และพื้นที่ไข่ขาว (ชุมชนบางปลา)

     ชุมชนทั้ง 4 แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการโครงการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยเกษตรกร เกษตรกรช่วยผู้บริโภค สู้ภัย COVID–19 ซึ่งสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน และสำนักงานวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 -2564 เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการ social engagement รอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ ชุมชนทุ่งบัว ชุมชนทุ่งลูกนก ชุมชนลาดหญ้าแพรก ในพื้นที่ไข่แดง และชุมชนบางปลา ชุมชนหนองงูเหลือม ชุมชนห้วยขวาง ชุมชนคลองศิริราช และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ทั้งในและนอกจังหวัดนครปฐม เข้ามาจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์

     เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นบุคคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประชาชนทั่วไปได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งผลการดำเนินการกิจกรรม “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยเกษตรกร เกษตรกรช่วยผู้บริโภค สู้ภัย COVID–19” จนถึงวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 ครั้งที่ 44 สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตร และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มากกว่า 2,750,000 บาท

      นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีความพอใจมากต่อคุณภาพสินค้าที่ได้รับจากเกษตรกร และยังมีความต้องการให้นำสินค้าสดปลอดภัย ปลอดสารพิษ และสินค้าแปรรูมาจำหน่ายในกิจกรรม นับเป็นอีกภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อยกระดับคุณภาพของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร ซึ่งมหาวิทยาลัยจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ข่าวโดย…. ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์